โรคภูมิแพ้ เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยและมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งโรคนี้มีแนวโน้มพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในช่วง20-30ปีที่ผ่านมา

สาเหตุของโรคภูมิแพ้ เกิดจากการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารก่อภูมิแพ้มากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการผิดปกติกับอวัยวะที่สัมผัสสารก่อภูมิแพ้นั้นๆ โดยปัจจัยเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ เกิดได้จากทั้งปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น การมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ และมลภาวะต่างๆ

โรคภูมิแพ้มีหลายชนิด ซึ่งผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการแตกต่างกันและสามารถเป็นหลายโรคร่วมกันได้ ขึ้นกับชนิดของสารก่อภูมิแพ้ที่ได้รับและการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคลที่ต่างกัน เช่น อาการทางระบบทางเดินหายใจ ระบบผิวหนัง และระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น โดยธรรมชาติของโรคภูมิแพ้มักมีการดำเนินโรคตามลำดับในแต่ละช่วงอายุตั้งแต่ช่วงวัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ หรือที่เรียกว่า Atopic march ซึ่งได้แก่

  1. โรคภูมิแพ้ผิวหนัง สามารถพบได้ตั้งแต่ช่วงวัยทารก ผู้ป่วยจะมีอาการของผื่นเรื้อรัง ผิวแห้ง แดง และคัน
  2. โรคแพ้อาหาร มักพบในเด็กเล็ก ช่วงอายุ6เดือนถึง1ปี อาการแพ้อาหารสามารถเกิดได้ในหลายๆอวัยวะ เช่น ผื่นลมพิษ หอบเหนื่อย อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด เป็นต้น ซึ่งอาการจะสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารที่แพ้ โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเสี่ยง เช่น นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง อาหารทะเล เป็นต้น
  3. โรคหอบหืด มักพบหลังอายุ1ขวบปีแรก ผู้ป่วยจะมีอาการไอแห้งถี่ๆ หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หายใจมีเสียงวี๊ด
  4. โรคภูมิแพ้จมูกและตา มักพบในเด็กที่โตขึ้น ช่วงวัยอนุบาลจนถึงเด็กโต ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูกเรื้อรัง จาม คันจมูกและตา น้ำมูกใส ซึ่งอาการเหล่านี้มักสัมพันธ์กับการได้รับสารก่อภูมิแพ้ในอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา สัตว์เลี้ยง เป็นต้น

หากสงสัยภาวะภูมิแพ้ นอกจากการซักประวัติและตรวจร่างกายแล้ว แพทย์อาจส่งตรวจพิเศษ เพื่อช่วยวินิจฉัยและค้นหาสิ่งที่แพ้ได้ โดยทั่วไปมี2วิธี ได้แก่ การทดสอบผิวหนัง และการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งผลการตรวจเหล่านี้จะช่วยในการวางแผนการรักษาได้

แม้ว่าโรคภูมิแพ้จะเป็นโรคเรื้อรัง แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และการใช้ยาเพื่อลดอาการแพ้และการอักเสบ ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นใกล้เคียงคนทั่วไป เพราะฉะนั้นการรู้เท่าทันโรคภูมิแพ้ ไม่เพียงช่วยให้สังเกตอาการเบื้องต้นได้ ยังหมายถึงการดูแลป้องกันตนเองได้อย่างเหมาะสม