ปัจจัยเสี่ยง และสาเหตุของโรค

  1. อายุที่เพิ่มมากขึ้น โอกาสเกิดโรคยิ่งสูงขึ้น
  2. เพศ ผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากฮอร์โมนเพศต่างกันหรือจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า ส่วนผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ที่รับประทานยาคุมกำเนิด และสูบบุหรี่ ก็มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเช่นเดียวกัน
  3. พันธุกรรม
  4. ความอ้วน
  5. ขาดการออกกำลังกาย
  6. โรคเรื้อรังต่างๆ ได้แก่ โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน
  7. มีปัญหาด้านอารมณ์ และจิตใจ เช่น ความเครียด หรือมีอาการซึมเศร้า
  8. สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประจำ
  9. ยาเสพติดบางชนิด เนื่องจากเพิ่มการหดตัวของหลอดเลือดหัวใจ

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ

อาการที่พบบ่อยของโรคหลอดเลือดหัวใจ พบอาการเช่นเดียวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจตายเพราะขาดเลือด (เมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน) ทั้งนี้ อาการต่างๆ ที่พบบ่อย ได้แก่

  1. เจ็บแน่นหน้าอก รู้สึกบีบแน่นตรงกลางอก เจ็บร้าวมายังลำคอ กระดูก กราม ไหล่ และแขน (เกิดอาการด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา และเกิดอาการเหล่านี้อยู่อย่างน้อย 10 นาที) อาการเจ็บจะมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหว แต่บรรเทาลงเมื่อนอนพัก
  2. คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อย อาจหอบ (พบมากในผู้หญิง)
  3. ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เหงื่อออกมาก วิงเวียน เป็นลม
  4. บางคนมีอาการของโรคหัวใจล้มเหลว ได้แก่ เหนื่อยง่าย วิงเวียน บวมที่หน้า ตัว ท้อง แขนขา มือ เท้า
  5. เมื่อหลอดเลือดสำคัญของหัวใจอุดตันพร้อมกันหลายเส้น กล้ามเนื้อหัวใจจะตาย หัวใจหยุดเต้น หมดสติ และเสียชีวิตทันที

การป้องกัน และลดความเสี่ยงของโรค

  1. ควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
  2. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  3. ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  4. ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร

กินป้องกันไว้…หลอดเลือดหัวใจไม่อุดตัน

การศึกษาทางการแพทย์ และทางโภชนาการให้ผลตรงกันว่า “อาหาร” เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะการรับประทานอาหารบางประเภทในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกายนั้น เป็นสาเหตุของโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง ซึ่งโรคต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตัน เนื่องจากผนังหลอดเลือดมีการสะสมของไขมัน

พลังงานที่ได้รับต่อวัน

พลังงานเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่ของเซลล์ต่างๆ พลังงานได้มาจากอาหาร 3 หมู่ คือ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน อย่างไรก็ตาม ถ้ารับประทานอาหารทั้ง 3 หมู่นี้มากเกินไป จะก่อให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจความต้องการพลังงานของร่างกายขึ้นอยู่กับอายุ เพศ ส่วนสูง น้ำหนัก

อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต

ได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง และน้ำตาล เป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง และเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไขมันสะสมในร่างกาย โรคเบาหวาน จึงจำเป็นต้องจำกัดการบริโภค ดังนี้

  1. จำกัดน้ำตาล อาหารหวาน ขนมหวาน อาหารที่มีน้ำตาลสูง ควรบริโภคไม่เกินร้อยละ 25 ของพลังงานที่ได้รับทั้งหมดต่อวัน (น้ำตาล / คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่)
  2. จำกัดน้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีส่วนผสมของน้ำตาลสูง
  3. เลือกรับประทานข้าว อาหารประเภทแป้งที่ผ่านการขัดสีน้อย หรือไม่ขัดสี ซึ่งมีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต

อาหารประเภทโปรตีน

เป็นอาหารที่ได้จากสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ต่างๆ นม ไข่ และจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ถั่วต่างๆ โดยโปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่ข้อควรระวังในการรับประทานอาหารประเภทโปรตีนมี ดังนี้

  1. จำกัดการรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น หมึก กุ้ง หอย
  2. จำกัดการรับประทานหนังสัตว์ เช่น หนังไก่ หนังเป็ด เพราะหนังสัตว์ทุกชนิดมีไขมันสูง
  3. จำกัดการรับประทานไข่แดง เพราะมีโคเลสเตอรอลสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้ไขมันเกาะในผนังหลอดเลือด จนหลอดเลือดตีบตัน จึงควรจำกัดการรับประทานไข่ โดยเฉพาะไข่แดงไม่เกิน 4 ฟอง/สัปดาห์
  4. รับประทานเนื้อปลาอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์

อาหารประเภทไขมัน

เป็นอาหารอีกหมู่ที่ให้พลังงาน มีทั้งไขมันจากสัตว์ และจากพืช แต่ไขมันจากสัตว์มีประโยชน์น้อยกว่าไขมันจากพืช อีกทั้งมีโคเลสเตอรอลสูงกว่ามาก จึงแนะนำให้เลือกรับประทาน ดังนี้

  1. จำกัดไขมันทุกชนิด โดยเฉพาะไขมันจากสัตว์ การรับประทานไขมันทั้งหมด ไม่ควรเกินร้อยละ 25 – 30 ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน (ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่)
  2. จำกัด หรือหลีกเลี่ยงอาหารทอด
  3. จำกัดอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงทุกชนิด โดยจำกัดปริมาณโคเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน
  4. จำกัดการรับประทานเนยเทียม หรือมาการีน
  5. ควรดื่มนมหรือรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมชนิดพร่องมันเนยอย่างสม่ำเสมอ
  6. เลือกรับประทานไขมันที่ดี เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และรับประทานน้ำมันปลา น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน โดยเฉพาะกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีผลต่อการเพิ่มระดับโคเลสเตอรอลที่ดี (HDL) และลดระดับโคเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL)

เน้นผัก และผลไม้

เน้นการรับประทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ เพราะได้ทั้งวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และให้พลังงานต่ำ มีโซเดียมน้อย

เพิ่มถั่วต่างๆ

นอกจากอุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร สารพฤกษาเคมี ในถั่วเปลือกแข็ง และถั่วเหลือง มีกรดอะมิโนอาร์จินิน ซึ่งช่วยสร้างไนตริคออกไซด์ที่ผนังหลอดเลือด ช่วยไปขยายหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดเรียบลื่น และลดการเติบโตของเซลล์กล้ามเนื้อที่ผนัง จึงช่วยป้องกันภาวะหลอดเลือดหนา และตีบแคบ

ลดอาหารเค็ม

จำกัดอาหารเค็ม เพราะมีโซเดียมสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคหลอดเลือดหัวใจ ทั้งนี้ ในผู้ใหญ่ปกติ ควรจำกัดปริมาณโซเดียมที่รับประทาน ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ในผู้สูงอายุ ไม่ควรเกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
หนังสือโรคของหัวใจ และหลอดเลือด โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ / หนังสือสงครามในหลอดเลือด โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เฉลียว ปิยะชน / หนังสือโรคหัวใจ อาหารเสริมหัวใจดวงเดียวให้แข็งแรง สำนักพิมพ์แสงแดด