หัวใจของมนุษย์มีทั้งหมด 4 ห้อง แบ่งเป็นด้านซ้าย-ขวาโดยผนังของกล้ามเนื้อหัวใจ และแบ่งเป็นห้องบน–ล่างโดยลิ้นหัวใจ ในทุกๆวันหัวใจคนเราจะเต้นประมาณ 100,000 ครั้ง และสูบฉีดเลือดประมาณวันละ 2,000 แกลลอน ซึ่งเป็นการทำงานปกติของ “หัวใจ” ส่วนสาเหตุที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจ ได้แก่ การไม่ออกกำลังกาย มีน้ำหนักตัวที่เกินกว่าค่ามาตรฐาน ระดับไขมันในเลือดสูง บุคคลที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่

โรคหัวใจ ที่อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน

  1. มีอาการเหนื่อยเวลาออกกำลังกาย – เพราะหัวใจทำหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย ซึ่งขณะที่เราออกกำลังกายหัวใจจะทำงานหนักมากขึ้น
  2. เจ็บหน้าอกหรือแน่นหน้าอก – มักพบบ่อยในคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไขมันอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ อาการดังกล่าวจะมีลักษณะเฉพาะคือ รู้สึกเหมือนหายใจอึดอัด และแน่นบริเวณกลางหน้าอก เหมือนมีของหนักทับอยู่ หรือรัดไว้ให้ขยายตัวเวลาหายใจ
  3. ภาวะหัวใจล้มเหลว – เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างของร่างกายได้อย่างเพียงพอ โดยผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเหนื่อย ทั้งที่ออกกำลังกายเพียงนิดหน่อย หรือเหนื่อยทั้งที่นั่งอยู่เฉยๆ
  4. ใจสั่นและหัวใจเต้นผิดจังหวะ – ปกติหัวใจของเราจะเต้นด้วยจังหวะที่สม่ำเสมอประมาณ 60-100 ครั้ง/นาที แต่สำหรับคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจขยับไปถึง 150-250 ครั้ง/นาที
  5. เป็นลมหมดสติ – คืออีกหนึ่งอาการที่เตือนว่าคุณอาจเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ ซึ่งมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติสูง เนื่องจากจังหวะการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ
  6. หัวใจหยุดเต้นกะทันหัน – ในกรณีนี้มักเกิดจากความผิดปกติของเซลล์หัวใจโดยตรง และมักเกิดกับคนปกติที่ไม่มีอาการของโรคหัวใจ

การป้องกันการเกิดโรคหัวใจ

การไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพประจำปี เป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถคาดคะเนความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ เช่น การตรวจเลือดแล้วพบว่า เป็นเบาหวานหรือมีไขมันในเลือดสูง ก็อาจสันนิษฐานได้ว่า มีความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน นอกจากนี้ หากเราไปเอ็กซเรย์แล้วพบว่า ขนาดของหัวใจโตกว่าปกติ มันก็อาจจะเป็นข้อตระหนักได้ว่า เราอาจจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจรั่ว หรือไม่ก็โรคกล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวอ่อนกำลังลง ทั้งนี้ทั้งนั้น ในกรณีที่ตรวจพบว่า มีความเสี่ยงสูง ไม่ควรนิ่งนอนใจ เราควรรีบเข้ารับการรักษาโดยด่วน

การรักษาโรคหัวใจ

หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ แพทย์จะให้คำแนะนำในการรักษาตามอาการของผู้ป่วย โดยที่แนวทางการรักษาจะประกอบด้วย 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ การรักษาด้วยยา เครื่องมือพิเศษ และการผ่าตัดในส่วนของการรักษาทางยา และอุปกรณ์พิเศษแพทย์จะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย รวมทั้งให้ยารักษาตามอาการ และในบางกรณีอาจใช้วิธีการฝังหรือใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ เพื่อรักษาอาการศัลยกรรมหัวใจและหลอดเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง ก็อาจมีความจำเป็นต้องทำการผ่าตัด

อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชนูปถัมภ์