โรคหัวใจรูมาติก เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย โรคหัวใจรูมาติกเป็นโรคหัวใจที่ไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิด แต่มักพบในเด็กโดยที่บางครั้งเด็กไม่มีอาการชัดเจน มาทราบอีกครั้ง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว พบว่าเกิดลิ้นหัวใจพิการขึ้น จัดว่าเป็นสาเหตุของโรคลิ้นหัวใจพิการ(ตีบ รั่ว) ที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย เด็กในวัยเรียนอาจพบโรคหัวใจรูมาติกได้ประมาณ 0.35-1.4 คนต่อเด็ก 1,000 คน และในผู้ที่อายุมากกว่า 15 ปีพบได้ประมาณ 3 คนต่อ 1,000 คน โดยในผู้ใหญ่ลักษณะที่พบจะเป็นผลจากการอักเสบของลิ้นหัวใจในวัยเด็ก ส่วนใหญ่พบในชุมชนแออัด ยากจน ในประเทศกำลังพัฒนา

ลักษณะทั่วไป

ไข้รูมาติก พบในคนทุกวัย แต่จะพบมากในเด็กอายุ 5-15 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่ฐานะค่อนข้างยากจน หรืออยู่กันอย่างแออัด ผู้ป่วยไข้รูมาติก ถ้ามีอาการกำเริบซ้ำ ๆ ซาก ๆ จะทำให้หัวใจมีการอักเสบเรื้อรัง และในที่สุดลิ้นหัวใจ จะเกิดการพิการ คือ ตีบและรั่ว เมื่อถึงขั้นนี้ เราเรียกโรคลิ้นหัวใจพิการชนิดนี้ว่า โรคหัวใจรูมาติก ซึ่งในประเทศเรามีการสำรวจพบว่า ในหมู่นักเรียนอายุ 5-15 ปี ในบางที่ ที่มีผู้ป่วยหัวใจรูมาติกประมาณ 0.5-2.1 ต่อนักเรียน 1000 คน

สาเหตุจากอะไร

โรคนี้เริ่มต้นจากการติดเชื้อคออักเสบ หรือ ต่อมทอนซิลอักเสบ จากเชื้อโรคที่ชื่อ เบต้าสเตรปโตคอคคัสกลุ่ม เอ (Beta- hemolytic Streptococcus Group A) ซึ่งติดต่อกันง่ายมากในชุมชนแออัด โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก หรือที่ๆมีผู้คนอยู่ หนาแน่น ไม่ถูกสุขลักษณะบางคนได้รับเชื้อนี้แล้ว เกิดคออักเสบขึ้น รักษาแล้วอาการหายไป แต่บางคนไม่เป็นเช่นนั้น ร่างกายมี การตอบสนองต่อการติดเชื้อนี้ผิดปกติ โดยร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาทำลายเชื้อ แต่ภูมิต้านทานเหล่านี้กลับมาทำลายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะหลายระบบ เช่น ผิวหนังอักเสบ (Erythema marginatum, Subcutaneous nodule) ระบบประสาทผิดปกติเกิดชัก หรือ เคลื่อนไหวผิดปกติ (Chorea) ปวดตามข้อหลายๆข้อ (Polyarthritis) หัวใจอักเสบ (Carditis) ซึ่งเป็นได้ตั้งแต่เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

อาการของไข้รูมาติก

มีไข้ ปวดบวมตามข้อ มีปุ่มใต้ผิวหนัง ผิวหนังเป็นผื่นแดง กล้ามเนื้อกระตุกไม่มีแรง และมีหัวใจอักเสบ คือ บวม เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เจ็บหน้าอก หอบ เป็นต้นที่สำคัญก็คือประมาณครึ่งหนึ่งของไข้รูมาติก จะมีหัวใจอักเสบร่วมด้วย และอาจจะกลายเป็นโรคหัวใจเรื้อรังไปได้ แต่การอักเสบที่อวัยวะอื่น ๆ จะหายเป็นปกติได้เอง เมื่อมีการอักเสบของหัวใจจากไข้รูมาติก อาจทำให้หัวใจวายและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หลังจากพ้นระยะอักเสบอาจกลายเป็นโรคหัวใจรูมาติกเรื้อรังได้ คือ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมสมรรถภาพ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ ถ้ามีความพิการที่ลิ้นหัวใจมาก อาจต้องผ่าตัดแก้ความพิการ หรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่ โดยใช้ลิ้นเทียมหรือจากหัวใจผู้อื่น

การป้องกันและรักษา

  1. ควรให้เด็กๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้แก่ อาหาร โปรตีน และผักผลไม้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงต่อต้านเชื้อโรคได้ ไม่ควรอยู่ในที่แออัด เพราะจะมีโอกาสแพร่และรับเชื้อโรคสเตรปโตคอคคัสได้โดยง่าย
  2. เด็กที่มีอาการเจ็บคอ ปวดข้อ หอบเหนื่อย บวม ฯลฯ ควรรีบไปหาแพทย์โดยเร็ว
  3. ผู้ที่เป็นไข้รูมาติกแล้ว จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ รับยาฉีดหรือกินเป็นประจำ เพื่อป้องกันการกลับของไข้ไปจนตลอดชีวิต

คำแนะนำ

  1. ถ้าพบเด็กมีอาการปวดข้อ หรือมีอาการสงสัยว่าเป็นไข้รูมาติก ควรแนะนำไปตรวจที่โรงพยาบาลโดยเร็ว และถ้าเป็นโรคนี้จริง ควรแนะนำให้ผู้ป่วยติดต่อรักษากับแพทย์เป็นประจำ จะช่วยป้องกันมิให้กลายเป็นโรคหัวใจรูมาติกได้
  2. เนื่องจากโรคนี้ พบมากในเด็ก อายุ 5-15 ปี ซึ่งอยู่ในวัยเรียน ครูในโรงเรียนและเจ้าหน้าที่อนามัยโรงเรียน จึงนับว่ามีบทบาทต่อการควบคุม และป้องกันโรคนี้ได้เป็นอย่างมาก ควรหาทางส่งเสริมสนับสนุนให้ครู และเจ้าหน้าที่อนามัยที่โรงเรียนมีความรู้ และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้

อ้างอิงจาก มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หนังสือการดูแลสุขภาพและเคล็ดเพื่อสุขภาพดี