หลายคนคงรู้จัก อวัยวะภายในช่องท้องของสตรี ที่เราเรียกกันว่ามดลูก เเต่บางคนยังไม่รู้จักมดลูกเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ภายในของสตรีที่มีขนาด ประมาณ 3x4x6 cm ลักษณะคล้ายผลชมพู่ มีหน้าที่หลักคือการรองรับ ตัวอ่อนหรือ ทารกน้อย ให้มาฝังตัวเเละเจริญเติบโตจนถึงอายุได้ 9 เดือนและคลอดออกมา ดังนั้นถ้าสตรี คนใดที่มีลูกเพียงพอเเล้ว หน้าที่ของมดลูกก็หมดไป คราวนี้ เรามาดูว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากมดลูกมีอะไรบ้าง ที่จะกล่าวดังต่อไปนี้จะพูดถึงเฉพาะโรคเนื้องอกมดลูกที่ไม่ใช่มะเร็ง โรคหรือความผิดปกติของมดลูกที่ไม่ใช่มะเร็งนั้น ที่พบบ่อยมีสองภาวะ คือ เนื้องอกมดลูก หรือหมอเรียกว่า ก้อน myoma และภาวะกล้ามเนื้อมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Adenomyosis)

เนื้องอกมดลูก มี 3 ชนิด

  1. เนื้องอกมดลูกในโพรงมดลูก
  2. เนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก
  3. เนื้องอกในผิวมดลูก ซึ่งชนิดนี้ มีผลต่อเราน้อยมาก

เนื้องอกมดลูก พบได้ บ่อยในสตรีวัยเจริญพันธุ์ พบได้เกือบ 25% เลยทีเดียว หรือถ้ามีผู้หญิงสี่คน หนึ่งคนจะเป็นเนื้องอกมดลูกเเต่ถึงเเม้จะพบได้บ่อย ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาทุกคนปกติเนื้องอกมดลูก คุณหมอจะรักษาเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการ ซึ่งอาการที่ ต้องได้รับการรักษามีดังนี้

  1. เลือดออกปริมาณมากขณะมีประจำเดือน
  2. ปวดท้องมากขณะมีประจำเดือน
  3. ก้อนหรือ เนื้องอกมีขนาดใหญ่ โตเร็วผิดปกติ
  4. ก้อนกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสวะ ทำให้ ปัสสวะบ่อย กดบริเวณลำไส้ตรง ทำให้ท้องผูก หรือ อาจจะกดเบียดท่อไตซึ่งพบได้น้อย
  5. ยังสงสัยว่าก้อนนั้น อาจไม่ใช่เนื้องอกมดลูกปกติ อาจเป็นเนื้องอก ที่มีมะเร็งอยู่ด้วย
  6. ก้อนเนื้องอกนั้นทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก

ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่คุณหมอ มักจะเเจ้งว่าไม่ต้อง รับการรักษา ให้ เฝ้าตรวจติดตามไปทุกหกเดือน

เเนวทางในการรักษา เนื้องอกมดลูกมีทั้งแบบผ่าตัดและแบบที่ไม่ต้องผ่าตัด การรักษาเเบบที่ไม่ต้องผ่าตัด ก็ใช้ยาเพื่อให้ก้อนยุบ แต่จะยุบเฉพาะช่วงที่ใช้ยา พอหยุดใช้ยาก้อนก็กลับมาโตใหม่ การใช้ยาเหมาะสำหรับการเตรียมตัวที่จะผ่าตัดเลาะเนื้องอกออก แต่ส่วนใหญ่การรักษาหลักของเนื้องอกมดลูกคือการผ่าตัด ถ้ามีลูกเพียงพอเเล้วไม่ต้องการมีบุตรอีกเเล้ว หรืออายุ เกิน 45 ปี ควรได้รับการตัดเอามดลูกออก แต่กรณีที่ อายุน้อย หรือ ยังต้องการมีบุตร ก็สามารถผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกนั้นออกก็ได้

ซึ่งการผ่าตัดมี 2 เเบบคือ

  1. การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องซึ้งเป็นการผ่าตัดแบบเก่าที่ทำกันมานาน แผลจะมีขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาในการฟักฟื้นนาน และแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
  2. การผ่าตัดผ่านกล้องเป็นการผ่าตัดโดยการสอดกล้องผ่านเข้าไปในช่องท้อง โดยแพทย์จะเปิดแผลที่หน้าท้องขนาด 1-2 เซนติเมตร 1 รอยบริเวณสะดือ เพื่อสอดกล้องเข้าไปในช่องท้อง เพื่อส่งภาพมายังจอโทรทัศน์เพื่อดูตำแหน่งในการผ่าตัดจากนั้นแพทย์จะเจาะช่องที่ผนังหน้าท้องขนาดช่องละ 1 เซนติเมตร อีก 2 รอย บริเวณหน้าท้อง แล้วสอดเครื่องมือผ่านแผล เพื่อทำการผ่าตัดมดลูกออก

ข้อดีของการผ่าตัดแบบผ่านกล้องคือ

  1. ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กแตกต่างจากการผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง ขนาดแผลที่เกิดขึ้นประมาณ 1-2เซนติเมตร รวม 3 แผล ที่ผนังหน้าท้องน้อย
  2. เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดจะมีน้อย
  3. ผู้ป่วยสามารถลุกเดินได้ภายใน 1 วันหลังการผ่าตัด สามารถปฏิบัติกิจวัตรส่วนตัวได้ด้วยตนเอง มีความสะดวกสบายมากขึ้นและสามารถออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็ว ส่วนใหญ่พักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน หลังจากผ่าตัด
  4. ไม่ต้องหยุดงานนานเหมือนการผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้านเพียง 1–2 สัปดาห์ สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ
  5. การเกิดพังผืดและภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดพบน้อยกว่าวิธีการผ่าตัดมดลูกแบบเปิดหน้าท้อง

ซึ่งการจะเลือกวิธีการรักษาเนื้องอกมดลูก วิธีไหนนั้น แพทย์ผู้รักษาต้องเป็นผู้ประเมินและให้คำปรึกษา แจ้งให้ทราบถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธีที่ใช้รักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้ร่วมในการตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาได้ด้วยตนเอง

หากท่านใดสงสัยหรือมีคำถามเพิ่มเติม

สามารถติดต่อสอบถามและโทรนัดพบแพทย์ได้ที่
โทร. 02-115-2111 ต่อ 1140 หรือ 081-811-1236
ศูนย์สุขภาพสตรีและผ่าตัดผ่านกล้อง โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต