ปัจจุบันการทำฟันมีความก้าวหน้า มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การรักษาสะดวก รวดเร็วขึ้น และเจ็บปวดน้อยลง ในเมื่อคนเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการเป็น โรคในช่องปาก ได้ เราจึงควรทำความรู้จักโรคต่างๆที่จะเกิดขึ้นในช่องปากของเราแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. โรคฟันผุ – ถ้าผุเพียงเล็กน้อยก็สามารถอุดฟันได้ แต่ถ้าผุมาก การอุดฟันจะทำได้ยากขึ้น และวัสดุจะเสี่ยงต่อการแตกหรือหลุดได้มาก อาจต้องทำการครอบฟันแทน ถ้าผุจนทะลุโพรงประสาทแล้วต้องทำการรักษาราก ทำเดือย ทำครอบ หรืออาจต้องถอนทิ้ง
2. โรคเหงือก – เป็นโรคที่มีคราบจุลินทรีย์และหินปูนสะสมในบริเวณที่ทำความสะอาดไม่ถึง ถ้ามีหินปูนเล็กน้อย สามารถขูดหินปูนเพื่อกำจัดคราบได้หมด แต่หากมีมากต้องขูดในตำแหน่งที่ลึกขึ้นหรือเรียกว่า เกลารากฟัน ถ้าหินปูน คราบจุลินทรีย์สะสมนานและอยู่ในตำแหน่งที่ลึกมากเกินกว่าที่จะขูดหินปูนธรรมดาได้ อาจต้องใช้การผ่าตัดเหงือกร่วมด้วย หรือต้องถอนทิ้ง
วิธีการรักษาโรคในช่องปากและฟัน ในปัจจุบันมีอยู่หลากหลายวิธี ได้แก่
ศัลยกรรมช่องปาก มีอยู่หลายประเภท เช่น การถอนฟัน การผ่าฟันคุด การผ่าตัดกระดูกขากรรไกร การตัดแต่งกระดูกก่อนการใส่ฟัน เป็นต้น มีหลายครั้งที่ผู้ป่วยถามเรื่องฟันคุดว่าต้องผ่าออกหรือไม่ ฟันคุดส่วนใหญ่ควรผ่าออก เพื่อป้องกันการปวด บวม หรือการทำลายซี่ฟันข้างเคียงจนเป็นเหตุให้สุดท้ายต้องถอนออกทั้งสองซี่ โดยช่วงอายุที่เหมาะแก่การผ่าฟันคุกออกคือ 19-25 ปี
ฟันปลอม มีทั้งฟันปลอมถอดได้ และฟันปลอมติดแน่น
ปัจจุบันรากเทียม เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในการใส่ฟัน รากเทียมมีลักษณะเหมือนน๊อตที่ไขเข้าไปในกระดูก แล้วมีส่วนแกนโผล่ขึ้นมาเหนือเหงือก เพื่อยึดติดกับครอบฟัน หรือฟันปลอมแบบต่างๆ ทำให้ฟันปลอมแน่นขึ้น และที่สำคัญรากเทียมช่วยคงระดับความสูงและขนาดของกระดูกไม่ให้ลีบเล็กลงจนใส่ฟันปลอมไม่ได้
ทันตกรรมสำหรับเด็ก ควรพาเด็กไปหาหมอฟันครั้งแรก ตอนฟันซี่แรกขึ้นในช่องปาก คืออายุประมาณ 6 เดือน เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับการไปหาหมอฟัน เมื่ออายุได้ประมาณ 6 ปี ฟันแท้ซี่แรกจะขึ้นมาในช่องปาก ควรเคลือบหลุมร่องฟัน กล่าวคือการนำวัสดุมาคลุมปิดทับหลุมร่องฟันไว้ ทำให้เกิดฟันผุได้ยากขึ้น รวมทั้งการขัดฟัน เคลือบฟลูออไรด์ เพราะฟลูออไรด์จะทำให้ฟันที่พึ่งงอกขึ้นมาแข็งแรงมากขึ้น
ทันตกรรมในคนไข้โรคทางระบบหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ที่ได้รับยาเคมีบำบัด หรือผู้ที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณใบหน้าและช่องปาก เป็นต้น จะมีข้อระวังในการทำฟันเฉพาะแต่ละโรค ยกตัวอย่างเช่น โรคฮีโมฟีเลีย เป็นโรคที่ทำให้เลือดไหลไม่หยุด การถอนฟันธรรมดาจะต้องมีการวางแผนทั้ง การให้เลือด การห้ามเลือดที่มากกว่าคนปกติ
ทันตกรรมจัดฟัน เป็น การจัดเรียงฟันให้มีการสบฟันดีขึ้น มีการเรียงตัวที่เป็นระเบียบมากขึ้น เพื่อให้ใช้บดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สวยงาม และทำความสะอาดได้ง่าย ปัจจุบันมีการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร สามารถทำให้คนไม่มีคางมีคางได้ คนที่ยิ้มเห็นเหงือกก็ทำให้ไม่เห็นได้
ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม เช่น การฟอกสีฟันทำให้ฟันขาวขึ้น ทำให้มีความมั่นใจและบุคลิกดีขึ้น ส่วนการทำวีเนียร์ วีเนียร์มีลักษณะคล้ายเล็บปลอม โดยการทำจะกรอผิวหน้าฟันออกเล็กน้อย แล้วพิมพ์ปาก ทำชิ้นงานมาติดเป็นผิวหน้าฟันใหม่ ที่มีสีสวยงาม การเรียงตัวดีขึ้นและได้รูปร่างปกติ
เทคโนโลยีด้านทันตกรรมต่างๆ เช่น ไมโครสโคป คือกล้องส่องขยายขนาด ใช้ในการรักษาราก ทำให้เห็นคลองรากต่างๆ ได้ชัดเจน ซีเอดี/ซีเอเอ็ม คือเทคโนโลยีที่ใช้คอมพิวเตอร์มาช่วยออกแบบผลิตครอบฟันและสะพานฟัน ซึ่งทำให้ได้ชิ้นงานรวดเร็วขึ้น และแม่นยำมากขึ้น เดนทัล ซีที คือการใช้ระบบ ซีที สแกน เข้ามาช่วยวินิจฉัย ทำให้เห็นรูปร่างลักษณะ และตำแหน่งของอวัยวะต่างๆ ได้อย่างละเอียดมากขึ้น
สุดท้ายนี้ ขอฝากไว้ว่าไม่ว่าการรักษาจะก้าวไกลไปถึงไหน มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยเพียงใด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การดูแลช่องปากของแต่ละคนเองนั่นเอง