1.ประเภทของเชื้อ: Flavivirus

2.พาหะนำโรค: ยุงลาย

3.การแพร่เชื้อ: สามารถแพร่เชื้อช่องทางหลักโดยยุงลายที่มีเชื้อและไปกัดคน และช่องทางอื่นๆที่เป็นไปได้ เช่น แพร่ผ่านทางเลือด แพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์ และเพศสัมพันธ์ (โอกาสเกิดได้น้อย)

4.อาการของโรค

  • ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกาใช้เวลาประมาณ 3 – 12 วัน (เฉลี่ย 4 – 7 วัน)
  • อาการของโรคไข้ซิกาคล้ายกับโรคที่เกิดจากอาร์โบไวรัส (Arbovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่มีแมลงเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคไข้สมองอักเสบ โรคไข้เหลือง และโรคไข้เลือดออกเป็นต้น โดยมีอาการไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้ปกติแล้วจะเป็นเพียงเล็กน้อยและอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน

5.การรักษาโรค

  • ขณะนี้ยังไม่มียาที่ใช้รักษาจำเพาะ และยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน
  • ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง จึงสามารถรักษาตัวได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ รักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาลดไข้ หรือยาบรรเทาอาการปวด แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยาแอสไพริน หรือยากลุ่มลดอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์(NSAIDs) หากอาการไม่ดีขึ้นผู้ป่วยควรปรึกษาและทำตามคำแนะนำของแพทย์

6.การป้องกันและการควบคุมโรค

การป้องกันและการควบคุมโรค ขึ้นอยู่กับการลดจำนวนของยุงตามแหล่งต่างๆ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้โดนยุงกัด ซึ่งสิ่งนี้สามารถทำได้โดย

  1. ใช้ยากำจัดแมลงหรือยาทาป้องกันยุง
  2. การสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาสีอ่อนๆ ที่สามารถคลุมผิวหนังและร่างกายได้
  3. อาศัยและนอนในห้องปรับอากาศ ใช้ฉากกั้น การปิดประตู ปิดหน้าต่าง การใช้มุ้ง
  4. การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดย การทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือครอบฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำ เช่น กระถางต้นไม้ เพื่อไม่ให้มีน้ำขังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

อ้างอิงข้อมูลจากกรมควบคุมโรคสำนักโรคอุบัติใหม่