PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง คือภาวะทางจิตที่เกิดจากการเผชิญ กับเหตุการณ์ตึงเครียด หรือกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์โดยตรงหรือการพบเห็นเหตุการณ์นั้นจนทำให้ผู้ป่วยอาจเห็นภาพในอดีต ฝันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รู้สึกวิตกกังวลโดยไม่สามารถควบคุมได้ อาจส่งผลให้นอนไม่หลับและไม่มีสมาธิด้วย โดยอาการจะค่อนข้างรุนแรงและเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

สาเหตุของโรค PTSD เกิดจากอะไร

แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ PTSD แต่โรคนี้อาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันเช่นเดียวกับภาวะทางจิตใจอื่น ๆ ทั้งปัจจัยทางร่างกายและสภาวะเหตุการณ์ในชีวิต

โดยปัจจัยที่อาจเป็นสาเหตุของ PTSD มีดังนี้

  • ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล เป็นต้น
  • ลักษณะนิสัยหรือบุคลิกภาพที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • การทำงานของสมองที่ควบคุมสารเคมีและฮอร์โมนของร่างกายที่ตอบสนองต่อความเครียด
  • เคยเกิดอุบัติเหตุอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุจราจร เครื่องบินตก เป็นต้น
  • เคยถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือเคยมีคนพยายามล่วงละเมิดทางเพศ
  • เคยถูกลักพาตัว เคยถูกจับเป็นตัวประกัน หรือเคยถูกโจรกรรม
  • มีบุคคลที่ใกล้ชิดบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต หรือเคยพบเห็นคนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
  • เคยผ่านการสู้รบในสงคราม เช่น ทหารผ่านศึก หรือคนที่อยู่ในพื้นที่สงคราม เป็นต้น
  • เคยประสบเหตุทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น สึนามิ พายุ แผ่นดินไหว เป็นต้น
  • เคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มีอันตรายถึงแก่ชีวิต

วิธีการป้องกัน

โรค PTSD เป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน การดูแลตนเองและเรียนรู้วิธีรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดเพื่อป้องกันกับการเกิดโรคนี้

สำหรับผู้ที่เพิ่งประสบเหตุการณ์ที่ร้ายแรง อาจมีวิธีการจัดการกับความเครียดเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้

โดยปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • หลังจากเผชิญสถานการณ์ร้ายแรง ต้องรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที
  • ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นต้น
  • พูดคุยเปิดใจกับคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่สามารถรับฟังปัญหาได้
  • หาวิธีผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น การทำสมาธิ หรือทำงานอดิเรก