ส่วนใหญ่แล้วถ้าเป็นหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ หรือภูมิแพ้ จะทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกเกิดการบวม ส่งผลให้โพรงไซนัสที่ติดต่อกับจมูกตีบตัน เกิดน้ำมูกคั่งภายในโพรงจมูก เป็นสภาวะเหมาะแก่การเติบโตของเชื้อโรค จนเยื่อบุอักเสบและเป็นหนอง เกิดภาวะ ไซนัสอักเสบ ขึ้นได้

ไซนัสอักเสบ แบ่งเป็น 2 ชนิด ดังต่อไปนี้

  1. ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute  Sinusitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบ มีเสมหะมากขึ้น คัดจมูก  3 สัปดาห์ และเป็นน้อยกว่าปีละ 4 ครั้ง
  2. ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis) เป็นภาวะเรื้อรังนานกว่า 12 สัปดาห์ และเป็นมากกว่าปีละ 4 ครั้ง  อาการคัดจมูก มีน้ำมูก อาจไม่ใช่อาการหวัด แต่อาจเป็นอาการจากโรคไซนัสอักเสบได้ ซึ่งถ้าอาการเป็นเรื้อรัง อาจคิดว่าเป็นโรคภูมิแพ้อากาศหรือเป็นหวัดเรื้อรัง แต่ความจริงแล้ว อาการของไซนัสอักเสบนั้น มีความแตกต่างกันอยู่มาก

อาการไซนัสอักเสบ

  • ปวดหน่วงๆ บริเวณหน้าผาก หัวตา โหนกแก้ม หรือรอบๆ ดวงตา
  • ปวดศีรษะ  มักเป็นมากช่วงเช้าหรือบ่าย โดยเฉพาะเมื่อก้มศีรษะ หรือเปลี่ยนท่า
  • น้ำมูกเป็นหนองข้นสีเขียวหรือเหลือง เวลาสูดจมูกแรงๆ รู้สึกน้ำมูกไหลลงคอ
  • คัดแน่นจมูก  หายใจมีกลิ่นเหม็นคาว
  • ปวดหู หูอื้อ
  • เจ็บคอ
  • มีไข้
  • อ่อนเพลีย

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ

  1. ยาปฏิชีวนะ
    • การใช้ยารักษาไซนัส จะใช้ต่อเมื่อเกิดกรณีติดเชื้อแบคทีเรีย
    • ส่วนกรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องใช้ยา
    • แต่หากไซนัสอักเสบเกิดจากเชื้อราซึ่งพบน้อยมาก กรณีนี้ต้องใช้กระบวนการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเชื้อราออก
  2. ยาแก้แพ้ เพื่อลดภาวะภูมิแพ้ที่ส่งผลให้เกิดไซนัสอักเสบได้
  3. ยาพ่นจมูก ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อและการแพ้อากาศ และทำให้หายใจโล่ง
  4. ยาลดน้ำมูก ช่วยให้หลอดเลือดในเนื้อเยื่อจมูกชั้นในหดตัว ส่งผลให้อาหารคัดจมูกและน้ำมูกไหลน้อยลง
  5. ใช้น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อล้างเมือกจากโพรงจมูกและไซนัส
  6. การรักษาโดยการผ่าตัด

ก่อนทำผ่าตัดจำเป็นต้องทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผ่าตัดและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น  เหมาะกับการรักษาไซนัสที่เกิดจากความผิดปกติของโพรงจมูก หรือเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตไปปิดกั้นโพรงไซนัส