ไมเกรน (Migraine) คืออะไร

เป็นอาการปวดหัวซ้ำซากที่มีลักษณะเฉพาะคือ ปวดข้างเดียว มักเป็นบริเวณขมับ รอบกระบอกตา บางครั้งอาการปวดข้างเดียวลามไปปวดสองข้าง สลับปวดซ้ายขวาได้ ปวดมักเป็นแบบตุ๊บ ๆ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ระยะเวลาปวดมักเป็นนาน 4 – 72 ชั่วโมง แต่บางคนอาจนานกว่านี้ได้ ก่อนอาการปวดหัวผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการผิดปกติด้านความรู้สึกเตือนนำก่อน ซึ่งเรียกอาการเหล่านี้ว่า ออร่า (aura)

 

บางคนมีอาการนำก่อนอาการปวดหัว (aura)

ผู้ป่วยบางคนมีอาการนำก่อนอาการปวดหัวประมาณ 5 – 30 นาที ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรบกวนต่อการมองเห็น เช่นเห็นภาพเล็กใหญ่ผิดเพี้ยนจากปกติ ภาพแหว่งหายลักษณะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ ขยายใหญ่ หรือเห็นแสงสีวูบวาบ ซึ่งถ้าเริ่มมีอาการนำดังกล่าว การรีบกินยาแก้ปวดจะช่วยลดระดับความรุนแรงของการปวดหัวได้

นอกเหนือจากเรื่องการมองเห็น ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการแขนขาอ่อนแรง ชาตามมือ ชารอบปาก พูดลำบากเป็นอาการนำก่อนอาการปวดหัวได้ ซึ่งแยกยากกับโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน ดังนั้นถ้ามีอาการดังกล่าวและไม่เคยเป็นมาก่อน ควรรีบมาพบแพทย์

 

เราจะรักษาและป้องกันอย่างไร

การรักษาแบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงที่อาการกำเริบ และการป้องกันการปวดซ้ำ

  • ช่วงอาการกำเริบ การรักษาหลัก ๆ คือการให้ยาแก้ปวด ยาหลัก ๆ ที่มักใช้คือ พาราเซตามอล ยากลุ่ม NSAID หรือ NonSteroid anti-inflammatory drug) ซึ่งยากลุ่มนี้ตัวอย่างเช่น ยาไอบรูโพเฟน (ibuprofen), นาโพรเซน (Naproxen) ถ้าอาการเป็นรุนแรงอาจใช้ยากลุ่มทริปแทน (triptan) เช่น อีลีทริปแทน (eletriptan)  อย่างไรก็ตามยากลุ่มหลังนี้หลีกเลี่ยงการใช้ในคนไข้ที่เป็นหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และคนไข้ที่มีอาการนำเป็นแขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด เพราะจะกระตุ้นให้เป็นหลอดเลือดสมองหรือหัวใจ  อุดตันกำเริบได้
  • การป้องกันการปวดซ้ำ  สิ่งแรกที่ผู้ป่วยต้องทำคือ ต้องสังเกตหาสิ่งกระตุ้นและหลีกเลี่ยง ตัวกระตุ้นที่เป็นสาเหตุได้บ่อยๆเช่น แสงแดด น้ำหอม รอบเดือน การอดนอน อดอาหาร เครียด หรืออาหารบางชนิดเช่น กาแฟ ผงชูรส กรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อาจจำเป็นต้องทานยาแก้ปวดก่อนเผชิญสิ่งกระตุ้น ก็สามารถช่วยได้

ถ้าอาการปวดแต่ละครั้งเป็นมากและรุนแรง เป็นหลายครั้งต่อเดือน หรือมีอาการนำเช่นแขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก อาจจำเป็นในการกินยาเพื่อป้องกันการปวดหัว โดยชนิดยาที่เลือกใช้ขึ้นกับดุลพินิจแพทย์แต่ละท่าน

 

ก่อนมีรอบเดือนแล้วปวดหัวทำอย่างไรดี

คือการปวดหัวไมเกรนที่กำเริบเด่นชัดช่วงมีรอบเดือน อาจจะเป็นก่อนรอบเดือน 2-3 วันแล้วยาวไปตลอดที่มีรอบเดือนได้ ผู้ป่วยมักปวดมาก ปวดนานมากกว่าปกติ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจำเป็นต้องทานยาแก้ปวดป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่ก่อนรอบเดือนมา 2-3 วันต่อเนื่องจนหมดช่วงเวลามีรอบเดือน ทั้งนี้รูปแบบการกินยาแก้ปวดต่อเนื่องอาจกระตุ้นให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆได้ ดังนั้นควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์

 

ปวดหัวที่ต้องรีบมาพบแพทย์

  • ปวดหัวมากอย่างไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน
  • ปวดหัวร่วมกับมีไข้
  • ปวดหัวร่วมกับอาการต่อไปนี้ ได้แก่ แขนขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด แขนขาชา เห็นภาพซ้อน
  • ปวดหัวร่วมกับการรู้สึกตัวลดลง ซึม พูดคุยสับสน
  • ปวดหัวมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะเป็นหลังอุบัติเหตุทางศีรษะ
  • ปวดหัวครั้งแรกหลังอายุเกิน 50 ปี

 


 

เอกสารอ้างอิง

Silberstein SD. Preventive migraine treatment. Continuum (Minneap Minn) 2015;21(4):973-89.

Becker WJ. Acute Migraine Treatment. Continuum (Minneap Minn) 2015;21(4)953-72.