คำกล่าวที่ว่า “ชีวิตเราเกิดมาคนเดียว ตายก็คนเดียว” อาจจะไม่เป็นความจริงอีกต่อไป เพราะความจริง แล้วในลำไส้คนเรามีสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ชื่อว่าจุลินทรีย์ ที่ร่วมสุขร่วมทุกข์ไปกับเราด้วย มากถึง 100 ล้านล้านตัว จุลินทรีย์แต่ละตัวนั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ไมครอนโดยเฉลี่ย เคยมีนักวิทยาศาสตร์คิดเล่น ๆ ว่าหาก นำเอาจุลินทรีย์ในลำไส้มาเรียงกัน สามารถนำมาพันรอบโลกได้ 1 รอบครึ่งเลยทีเดียว ในลำไส้ของเรานั้น มีทั้งจุลินทรีย์ชนิดที่ดี และไม่ดี จุลินทรีย์ที่ดีจะช่วยกลายสภาพให้แลคโตส และกลูโคส เป็นกรดแลคติก และกรดน้ำส้ม ทำให้ลำไส้รักษาสภาพความเป็นกรดอ่อน ๆ ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ไม่ดี ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ช่วยการขับถ่ายอุจจาระ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดสารพิษในลำไส้ และช่วยผลิตวิตามินมากมาย เช่น บี 1 บี2 บี6 บี12 วิตามินอี วิตามิน เค กรดแพนโทเทนิก และกรดโฟลิก เป็นต้น
ในขณะที่จุลินทรีย์ไม่ดีในลำไส้ จะกัดกร่อนสุขภาพของเราไปเรื่อย ๆ ด้วยการคอยย่อยสลายไขมันและโปรตีนที่ลำไส้เล็กย่อยและดูดซึมไม่หมด ทำให้บูดเน่า และกลายเป็นสารพิษ และสารก่อมะเร็งชนิดต่าง ๆ จุลินทรีย์ไม่ดี จะย่อยโปรตีนให้กลายเป็นอินโดล (Indole) ฟีนอล (phenol) และ อีไมด์ (imide) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมาก สารเหล่านี้ถูกส่งไปขจัดที่ตับ ถ้าความเข้มข้นสูง หรือสมรรถภาพตับไม่ดี สารอีไมด์ที่สลายไม่หมดจะทำปฏิกิริยากับไนไตรต์ในลำไส้กลายเป็น เอ็นไนโตรซามีน (N-nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งขั้นรุนแรงกว่า การดูแลลำไส้ให้มีจุลินทรีย์ดีอยู่มากนั้นมีผลให้สุขภาพของเราดีขึ้น มีภูมิต้านทานที่แข็งแรง ซึ่งการที่จะให้มีจุลินทรีย์ดีอยู่ในลำไส้เราอย่างเพียงพอ มี 5 ข้อควรปฏิบัติดังนี้
- พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น เพราะทุกครั้งที่เรารับประทานยาปฏิชีวนะเข้าไปนั้น เราไม่สามารถเลือกให้ทำลายเฉพาะเชื้อโรคที่ต้องการได้ แต่ยาปฏิชีวนะยังเข้าไปทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ของเราไปด้วยทุกครั้ง ดังนั้น หากเรารับประทานยาปฏิชีวนะบ่อยโดยไม่จำเป็น ก็จะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่ดีลดน้อยลงจนเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้
- ลดการรับประทานอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวเพราะอย่างที่เราทราบว่าอาหารเหล่านี้เป็นอาหารอันโอชะของจุลินทรีย์ไม่ดี หากเรารับประทานอาหารไขมันสูงมากเกินไป นอกจากทำให้จุลินทรีย์ไม่ดีในลำไส้มีมากขึ้น ยังทำให้เราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
- ควรรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเป็นประจำ เพราะเป็นอาหารที่ดีของจุลินทรีย์ดี อาหารกากใยสูงนั้นเราสามารถได้รับจากการรับประทานอาหารที่มาจากพืช ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืช ถั่ว ผัก และผลไม้ เป็นต้น ข้อควรระวัง คือควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่รสหวานจัดเพื่อป้องกันการได้รับน้ำตาลมากเกินไป
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ เพราะพบว่าในลำไส้ของคนที่มีน้ำหนักเกิน มีจุลินทรีย์ดีน้อย และจุลินทรีย์ไม่ดีสูงกว่า ในลำไส้ของคนผอม จึงไม่น่าแปลกใจว่าคนที่มีน้ำหนักเกินมักมีโรครุมเร้ามากกว่า
- รู้จักผ่อนคลายอารมณ์ด้านลบ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความโกรธ ความกังวล เพราะอารมณ์ด้านลบเหล่านี้จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมาเพิ่มขึ้น และจากการศึกษาพบว่าเมื่อร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดมากขึ้น ทำให้จุลินทรีย์ดีในลำไส้ลดน้อยลงอย่างผิดปกติ ในขณะเดียวกันก็ทำให้จุลินทรีย์ไม่ดีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย สุขภาพดีนั้น เราสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง เริ่มต้นง่ายๆ วันนี้ ด้วยการดูแลจุลินทรีย์ดีในลำไส้ให้อยู่กับเราไปนาน ๆ