อาการมึนหัว เวียนหัว คลื่นไส้ เป็นอาการที่คนส่วนใหญ่เคยพบเจอ ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ความเครียด สภาพอากาศ อยู่ในช่วงที่ไม่สบาย รวมถึงโรคประจำตัวที่ซ้อนอยู่โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้ตัว มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นอยู่ตลอด ซึ่งอาการ มึนหัว เวียนหัว คลื่นไส้ อาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุ 5 ประการ ดังนี้

  1. ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เกิดอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ  โรคลมบ้าหมู เส้นเลือดตีบ โรคพาร์กินสัน เนื้องอกในสมอง สมองเสื่อม จะทำให้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการ เช่น พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง ปากเบี้ยว
  2. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการทางหูอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หูอื้อ มีเสียงในหู
  3. ระบบหมุนเวียนโลหิตผิดปกติ เกิดจากความดันโลหิตต่ำ หรือความดันโลหิตสูง โรคของหัวใจส่งผลให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด หรือควบคุมการทรงตัวได้ยากเนื่องจากหัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ
  4. โรคไมเกรน  ผู้ป่วยอาจมีอาการมึนหัว เวียนหัวที่มักจะเป็น ๆ หาย ๆ สลับกันไป
  5. โรคทางจิตเวช เกิดจากสภาพจิตใจ เช่น อาการมึนหัว เวียนหัวอย่างมากเมื่ออยู่ในที่แคบ ที่สูง หรือที่ชุมชน เกิดอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม มือเท้าชา และเย็น และแน่นหน้าอก

 

เมื่อเกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุนควรปฏิบัติดังนี้

  • หยุดนั่งพัก หรือควรนอนพักสักครู่จนกว่าอาการจะดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการแย่ลง เช่น การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม หรือเงยคอนาน ๆ

 

ท่าบริหารช่วยลดอาการเวียนหัว บ้านหมุน 

บริหารศีรษะ

  • ก้มศีรษะไปข้างหน้าแล้วแหงนไปข้างหลัง โดยทำอย่างช้า ๆ ขณะลืมตา แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทั้งหมด 20 ครั้ง
  • หลับตาแล้วค่อย ๆ หันศีรษะจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่งอย่างช้า ๆ  แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น ทั้งหมด 20 ครั้ง

บริหารตา

  • มองขึ้นบนแล้วมองลงล่าง ทำช้า ๆ แล้วค่อยเพิ่มเร็วขึ้น จำนวน 20 ครั้ง
  • กลอกตาจากซ้ายไปขวา โดยเริ่มทำอย่างช้า ๆ  เช่นกัน จำนวน 20 ครั้ง 

บริหารในท่านั่ง

  • ยกไหล่ขึ้นลง 20 ครั้ง
  • หันไหล่ไปทางขวา แล้วหันไปทางซ้าย ทำจำนวน 20 ครั้ง 

การเคลื่อนไหว

  • ใช้อุปกรณ์เสริม คือ ลูกบอลยาง โดยโยนลูกบอลยางจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่ง โยนให้สูงเหนือระดับตา ทำอย่างน้อย 10 ครั้ง