โรคทางพันธุกรรม เป็นโรคที่เกิดจากพ่อแม่ที่มีพันธุกรรมผิดปกติ ที่ถูกถ่ายทอดสู่ลูก พ่อและแม่บางคนอาจจะมีไม่มีอาการผิดปกติ ไม่แสดงอาการเนื่องจากเป็นพาหะของโรค แต่เมื่อใดก็ตามที่พันธุกรรมก่อโรค ก็สามารถถ่ายทอดจากพ่อปละแม่สู่ลูกได้ โรคที่เกิดขึ้นทางพันธุกรรมสามารถรักษาเพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองโรคก่อนแต่งงานและก่อนการมีบุตรเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถป้องกัน โรคทางพันธุกรรม ได้
โรคทางพันธุกรรม แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
- โรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติบนออโตโซม เกิดขึ้นได้กับทุกเพศ เป็นผลจากความผิดปกติของโครโมโซม ที่มี 44 แท่ง หรือ 22 คู่ โดยสามารถแบ่งความผิดปกติได้เป็น 2 ประเภท คือ ความผิดปกติที่จำนวนโครโมโซม หรือความผิดปกติที่รูปร่างของโครโมโซม
- โรคที่เกิดความผิดปกติในโครโมโซมเพศ โรคที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติในโครโมโซม ยกตัวอย่างเช่น โรคตาบอดสี โรคธาลัสซีเมีย โรคที่มีความบกพร่องทางเอ็นไซม์ โดยโรคดังกล่าวเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของโครโมโซมเพศ จำนวน 2 แท่ง หรือ 1 คู่
โรคทางพันธุกรรม ที่พบได้บ่อย
1. ดาวน์ซินโดรม
โรคดาวน์ซินโดรม เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของ โครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมาทั้งโครโมโซมหรือบางส่วน ความผิดปกติที่พบบ่อยที่สุดคือ การมีโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินมา 1 แท่ง โดยเกิดจากการแบ่งตัวของโครโมโซมผิดปกติ (Nondisjunction) เรียกว่า Trisomy 21 ซึ่งพบร้อยละ 95 ของโรคดาวน์ซินโดรม ทั้งหมด
ความเสี่ยงในการเกิดโรค
- แม่ที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมาก ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ตอนอายุมากกว่า 35 ปี และยิ่งอายุของแม่มากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น
- แม่ที่เคยมีประวัติคลอดบุตรคนก่อนเป็นดาวน์ซินโดรม
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นดาวน์ซินโดรม เช่น พี่น้อง หรือญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด
- ผลตรวจอัลตราซาวน์ที่บ่งชี้ว่าเป็นดาวน์ซินโดรม เช่นลิ้นโตกว่าปกติ ทารกมีขาสั้น
การตรวจ ดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์ ทำได้ 2 แบบ คือ
- โดยการเจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis)
- ตรวจคัดกรองทารกกลุ่มดาวน์ซินโดรม ด้วยการตรวจเลือดมารดา แบ่งเป็น 2 แบบ
- การตรวจสารเคมี
- การตรวจ NIPT
ลักษณะอาการ ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรม จะมีศีรษะเล็ก ตาเฉียงขึ้น ดั้งจมูกแบน ลิ้นยื่นออกมา ปากเล็ก มือสั้น และอาจมีโรคประจำตัวติดมาตั้งแต่กำเนิด เช่น โรคหัวใจพิการ โรคลำไส้อุดตัน ต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง เป็นต้น
2. โรคตาบอดสี
โรคตาบอดสี เกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีและเซลล์รับแสงสีเขียวหรือแดง ซึ่งถูกควบคุมด้วยยีนบนโครโมโซม X และมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบ X-linked recessive จากแม่ไปสู่บุตรชาย
ทำให้เพศชายถ้ามีหน่วยพันธุกรรม X ที่ทำให้เกิดตาบอดสี ก็จะแสดงอาการของตาบอดสีออกมา ในขณะที่เพศหญิงถ้าหน่วย X นี้ผิดปกติหนึ่งหน่วย ก็ยังสามารถมองเห็นได้ปกติ
ลักษณะอาการตาบอดสี คือ จะไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างสีเขียวกับสีแดง หรือสีน้ำเงินกับสีเหลืองได้ โดยเกิดขึ้นกับดวงตาทั้งสองข้าง และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
3. โรคธาลัสซีเมีย
เกิดจากความผิดปกติของยีน (Gene) ทำให้กระบวนการสร้างฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดงมีความผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตกและถูกทำลายได้ง่าย ทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง (Anemia) เรื้อรังตั้งแต่กำเนิดไปจนตลอดชีวิต ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
โรคธาลัสซีเมีย แบ่งตามความรุนแรงของอาการ ได้ 2 กลุ่ม
- กลุ่มที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia disease)
- มีอาการของภาวะโลหิตจาง ได้แก่ ซีด เหนื่อยง่ายเวลาออกแรง มึนงง เวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลมบ่อย โดยเฉพาะเวลาเปลี่ยนอิริยาบถ ใจสั่น ตรวจร่างกายอาจพบภาวะ ตับม้ามโตได้
- มีการขยายตัวของกระดูกหน้าผากและกรามบน ทำให้ใบหน้าแบน กระโหลกศีรษะหนาที่เรียกว่า thalassemia facies
- การเจริญเติบโตไม่สมวัย
- ถ้ามีความผิดปกติรุนแรง เช่น Hb Bart hydrops fetalis จะมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดได้แก่ อาการบวมทั้งตัว ท้องโต ตับโตมาก รกขนาดใหญ่มาก ซึ่งทำให้เสียชีวิตตั้งแต่ตอนคลอดได้
- กลุ่มที่เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมีย (Thalassemia trait)
เกือบทั้งหมดของผู้ที่เป็นพาหะของโรค จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเหมือนคนปกติทั่วไป แต่มียีนธาลัสซีเมียแฝงอยู่ในร่างกายและอาจถ่ายทอดไปสู่ลูกได้
การตรวจวินิจฉัย
- แพทย์จะทำการซักประวัติอาการของธาลัสซีเมีย รวมถึงประวัติธาลัสซีเมียในครอบครัว
- มีการส่งตรวจเลือดเพิ่มเติม ได้แก่ CBC, Hb typing
การรักษาโรคธาลัสซีเมีย
- ดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง ได้แก่ เลือด ตับ เครื่องในสัตว์ งดยาและวิตามินที่มีธาตุเหล็กเป็นส่วนประกอบ
ให้การรักษาโรคตามอาการและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะซีด เช่น การให้เลือด (Blood Transfusions) การทำคีเลชั่น (Chelation Therapy) เพื่อกำจัดธาตุเหล็กที่เกินขนาด และการรักษาด้วยยาและวิธีทางการแพทย์อื่น ๆ
ส่วนวิธีรักษาธาลัสซีเมียให้หายขาดนั้น ปัจจุบันมีวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากผู้อื่น ซึ่งมีลักษณะของเม็ดเลือดขาวเหมือนกับผู้ป่วย (Stem Cell Transparent / Bone Marrow Transparent) แต่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาและเสี่ยงเสียชีวิตได้ วิธีนี้จึงใช้ได้กับเด็กบางรายเท่านั้น
การป้องกันโรคธาลัสซีเมีย
โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือก่อนมีบุตร ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองว่าคู่สามีภรรยามีพาหะธาลัสซีเมียหรือไม่
4. โรคลูคิเมีย (Leukemia) หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
เป็นโรคที่เกิดจากไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมามากและมีการเจริญเติบโตผิดปกติ จนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ ทั้งนี้ยังสามารถแพร่กระจายแทรกซึมไป ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งก่อให้เกิดอาการและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จนเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุของการเกิดโรคลูคิเมีย (Leukemia)
- พันธุกรรม
- สารทึบรังสี
- สารเคมี
- ยาเคมีบำบัด
- โรคไขกระดูกบางชนิด
โรคลูคิเมีย (Leukemia) หรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- แบ่งตามเซลล์ต้นกำเนิด ได้ 4 ชนิด ได้แก่
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน ชนิดลิมฟอยด์ (Acute lymphoblastic leukemia; ALL)
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน ชนิดมัยอีลอยด์ (Acute myeloblastic leukemia ; AML)
- โรงมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง ชนิดลิมฟอยด์ (Chronic lymphocytic leukemia ; CLL)
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง ชนิดมัยอีลอยด์ (chronic myeloblastic leukemia ; CML)
- แบ่งตามระยะเวลาเกิด ได้ 2 ชนิด
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน (acute leukemia) คือการที่เซลล์ตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว อาการของโรคจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและรุนแรง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (chronic leukemia) คือการที่เซลล์เม็ดเลือดขาวถูกผลิตออกมามากเกินไป ทำให้มีเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ เนื่องจากความผิดปกติเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติ แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจเลือด
อาการของโรคลูคิเมีย (Leukemia)
เนื่องจากโรคลูคิเมีย มีเซลล์เม็ดเลือดที่ผิดปกติไปรบกวนการสร้างเม็ดเลือดชนิดต่างๆ ทำให้เกิดอาการดังนี้
- การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ผู้ป่วยอาจมีอาการจากภาวะโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลียง่าย เหนื่อยง่าย ใจสั่น วิงเวียนศีรษะ หน้าซีด หน้ามืด
- การสร้างเม็ดเลือดขาวลดลง ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลง ร่างกายติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
- การสร้างเกล็ดเลือดลดลง ทำให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย อาจพบจุดเลือดออกหรือจุดจ้ำเลือดตามตัว รวมถึงอาจทำให้เกิดภาวะเลือดหยุดยาก
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลูคิเมีย อาจมีอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด คลำพบก้อนตามตัวหรือมีอาการปวดกระดูกได้
การรักษา โรคลูคิเมีย (Leukemia)
- เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาหลักสำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน โดยยาจะไปทำลายเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวผิดปกติ เพื่อให้ไขกระดูกสามารถสร้างเม็ดเลือดปกติขึ้นมาใหม่ ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักต้องใช้เคมีบำบัดร่วมกันหลายชนิด โดยแพทย์จะพิจารณาตามชนิดและความรุนแรงของโรค รวมถึงความแข็งแรงของผู้ป่วยด้วย
- การรักษาแบบจำเพาะเจาะจง (Targeted therapy) เป็นการรักษาโรคลูคิเมีย ด้วยยาที่ออกฤทธิ์จำเพาะเจาะจงต่อเซลล์มะเร็งโดยตรง ซึ่งยากลุ่มนี้จะไม่ทำลายเซลล์ปกติ เช่น ยากลุ่ม Tyrosine kinase inhibitor ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ (Chronic myeloid leukemia)
- การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell transplantation) โดยแพทย์จะนำเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดหรือไขกระดูกของตัวผู้ป่วย (Autologous transplantation) ญาติพี่น้องหรือผู้บริจาค (Allogeneic transplantation) ที่เข้ากันได้ มาปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย เพื่อลดโอกาสกลับเป็นซ้ำ
5. โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic fibrosis)
โรคซีสติกไฟโบรซีส (Cystic fibrosis) เป็นโรคที่เกิดจากเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมบนโครโมโซม คู่ที่ 7 ของยีน cystic fibrosis transmembrane regulator (CFTR) ความบกพร่องที่เกิดขึ้นในยีน CFTR โดยยีนชนิดนี้จะทำหน้าที่สร้างโปรตีนที่ควบคุมการเคลื่อนตัวของเกลือและน้ำ ที่เข้าและออกจากเซลล์ร่างกาย ถ้ายีนที่สร้างโปรตีนชนิดนี้ทำงานผิดปกติ จะก่อให้เกิดเมือกข้นเหนียวผิดปกติ และเหงื่อที่มีรสเค็มมากกว่าปกติ จนก่อให้เกิดการอุดตันในหลายอวัยวะ ส่งผลให้เกิดการทำงานผิดปกติและแสดงอาการต่างๆตามหน้าที่การทำงานของอวัยวะเหล่านั้น ตั้งแต่แรกเกิดไปจนตลอดชีวิต เช่น
- อาการระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด (เสียงดังวี๊ดๆ จากหลอดลมตีบ) คัดจมูก แน่นจมูก ตลอดเวลา
- อาการระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกรุนแรง อาหารไม่ย่อย ลำไส้อุดตัน ปาก/คอแห้งมาก
- อาการทางตา เช่น ตาแห้งมาก นอกจากนั้นยังส่งผลให้อวัยวะเหล่านั้น เกิดการติดเชื้อต่างๆได้ง่ายและเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ
โรคซิสติกไฟโบรซิสนี้ จะทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ ซึ่งยังไม่มีการรักษาเฉพาะเจาะจง เช่น การกำจัดเสมหะ ด้วยการดื่มน้ำมากๆ การทำกายภาพปอด การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นครั้งคราวเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย เป็นต้น