ข้อสังเกตที่ทำให้สงสัยว่าตนเองอาจตั้งครรภ์คือมีการเปลี่ยนแปลงเวลาของประจำเดือนไม่มาตามเวลาปกติ โดยเฉพาะเลื่อนไปนานกว่าหนึ่งสัปดาห์ และอาจร่วมกับมีอาการแพ้ท้องเช่นคลื่นไส้อาเจียน คัดตึงเต้านมเป็นต้น

หญิงวัยเจริญพันธุ์ มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้เสมอ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจ จากมีความพร้อม หรืออาจจะตั้งครรภ์แบบไม่ได้วางแผน สาเหตุเพราะไม่ได้คุมกำเนิดหรือคุมกำเนิดแล้วไม่ได้ประสิทธิผล จะรู้ได้อย่างไรว่าท้องแล้ว สามารถสังเกตได้ดังนี้

อาการของการตั้งครรภ์นับเวลาจากประจำเดือนล่าสุด จนถึง ตั้งครรภ์สามเดือนแรก

  1. สัปดาห์ที่ 1-4 อยู่ในช่วงยังไม่ถึงรอบประจำเดือนถัดไป – อาจพบจุดคราบเลือดเวลาซับทำความสะอาดช่องคลอด ซึ่งในเวลาปกติไม่ควรมี เป็นผลจากการที่ตัวอ่อนมาฝังตัวในโพรงมดลูก
  2. สัปดาห์ที่ 4 สิ่งที่ควรมากลับไม่มา – ในเวลาที่รอบประจำเดือนควรต้องมาแต่ไม่มา โดยเฉพาะเลื่อนไปนานกว่า 1 สัปดาห์ เป็นอาการหลักให้สงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ได้ ให้ซื้อที่ตรวจการครรภ์มาทดสอบ ซึ่งฮอร์โมนการตั้งครรภ์สามารถตรวจเจอได้เร็วสุดเมื่อประจำเดือนเลื่อนไปประมาณ 1สัปดาห์
  3. สัปดาห์ที่ 4 หรือ 5 ของการตั้งครรภ์ – จะรู้สึกอ่อนเพลีย รู้สึกง่วง
  4. สัปดาห์ที่ 4 ถึง 6 ของการตั้งครรภ์ – มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไวต่อกลิ่น เหม็นกลิ่นแปลกๆ เบื่ออาหาร เริ่มเจ็บคัดตึงเต้านม ปัสสาวะบ่อยขึ้น บางรายปัสสาวะเล็ด ท้องอืดแน่นท้อง ท้องผูก เป็นผลจากฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ทำให้ลำไส้บีบตัวช้าขึ้น
  5. สัปดาห์ที่ 5 ถึง 6 ของการตั้งครรภ์ – มีอาการวิงเวียนศีรษะ ส่วนใหญ่เกิดตอนเช้า แต่สามารถ เกิดได้ทุกช่วงเวลาของวัน
  6. สัปดาห์ที่ 6 ของการตั้งครรภ์ – เริ่มมีอารมณ์สวิงแปรปรวน ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย อุณหภูมิร่างกายเปลี่ยนไป รู้สึกตัวร้อนขึ้น
  7. สัปดาห์ที่ 9 ของการตั้งครรภ์ – มีอาหารปวดแสบร้อนลิ้นปี่ เนื่องจากรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมา เพราะมีการยืดคลายของหูรูดระหว่างกระเพาะอาหารกับหลอดอาหาร
  8. สัปดาห์ที่ 8 ถึง 10 ของการตั้งครรภ์ – ชีพจรเต้นเร็วขึ้น ทำให้รู้สึกใจสั่น ใจเต้นรัว เป็นผลจากฮอร์โมน เพื่อสูบฉีดเลือดไปพัฒนาการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
  9. สัปดาห์ที่ 11 ของการตั้งครรภ์ – มีการเปลี่ยนแปลงของผิวพรรณและน้ำหนัก คือบางรายมีน้ำมีนวลผิวสดใส หรือกลับกันในบางราย มีสิวขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนน้ำหนักจะเพิ่มขึ้น ช่วงแรกน้ำหนักจะเพิ่ม ได้ถึง 2 กก. และขึ้นต่อเนื่อง จากน้ำหนักของเต้านม และมดลูกที่ขยาย รก น้ำคร่ำ ปริมาณน้ำเลือดที่เพิ่มขึ้น เต้านมขยาย หัวนมลายนมสีเข้มขึ้น

นพ. จริน กิติการอำพล
สูตินรีแพทย์
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต