1. โรคต่อมลูกหมากโต ทำให้มีปัญหาปัสสาวะบ่อยกลางคืน กระปริดกระปรอย ปัสสาวะแต่ละครั้งต้องเบ่งนาน
  2. เบาหวานที่คุมได้ไม่ดี จะปัสสาวะบ่อย ปริมาณค่อนข้างมากทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งเป็นกลไกปกติของร่างกายเพื่อสร้างสมดุลน้ำตาลในเลือด
  3. อาการเจ็บปวดตามร่างกายต่างๆ เช่น โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบรูมาตอยด์
  4. โรคทางช่องท้องทำให้ไม่สบายตัว เช่น ท้องผูก แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน ภาวะท้องมานแน่นท้องเวลานอนหงาย ทำให้หลับได้ยาก
  5. โรคทางระบบปอดและหัวใจ เช่น ภาวะหอบ หรือถุงลมโป่งพองซึ่งมักกำเริบช่วงอากาศเย็น หรือกลางคืน ซึ่งผู้ป่วยมักหายใจไม่สะดวก และอาจได้ยินเสียงวี๊ดในลำคอหรือในทรวงอก ภาวะน้ำท่วมปอดจากหัวใจวาย ผู้ป่วยจะเหนื่อย นอนราบไม่ได้ หรือนอนราบแล้วต้องลุกขึ้นมานั่งเป็นช่วงๆ ผู้ป่วยมักจำเป็นต้องนั่งหลับ
  6. ภาวะลมหายใจอุดกั้น OSA (obstructive sleep apnea) ผู้ป่วยหลายท่านจะมีอาการนอนกรน หายใจเฮือก หรือสำลัก เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการหย่อนกล้ามเนื้อและลิ้นช่วงนอนหลับ ทำให้ตีบแคบอุดกั้นทางเดินหายใจ ผู้ป่วยมักจะปวดหัวตอนเช้า หงุดหงิดง่าย สมาธิไม่ดี ง่วงนอนมากช่วงตอนกลางวัน พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคอ้วน โรคภูมิแพ้ โรคหลอดเลือดสมองอัมพฤกษ์อัมพาต ซึ่งนอกเหนือจากประวัติที่สงสัย ทางการแพทย์จะมีการตรวจที่เรียกว่า sleep test ซึ่งจะเก็บข้อมูลการนอน คลื่นไฟฟ้าสมอง คลื่นไฟฟ้าหัวใจ การหายใจ ระดับออกซิเจน เพื่อพิจารณาความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตอนนอน CPAP (continuous positive airway pressure)
  7. โรคไต หรือการกินยากลุ่มขับปัสสาวะเพื่อลดความดันโลหิตสูง หรือเพื่อคุมสมดุลน้ำในร่างกาย ซึ่งแพทย์หลายท่านจะหลีกเลี่ยงปัญหานี้โดยแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานยาช่วงเช้า หรือตอนกลางวัน
  8. โรคการเสื่อมของระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน รูปแบบปัญหาการนอนอาจมาในรูปแบบฝันร้ายเสมือนจริง ละเมอชกต่อย ร้องตะโกน หรือเป็นลักษณะขายุกยิกต้องเดินไปมาก่อนนอน หรือขากระตุกหลังนอนหลับไปแล้ว ซึ่งบางภาวะอาจมีความจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับเพื่อควมคุมอาการ
    โรคสมองเสื่อม ปัญหาการนอนไม่หลับในโรคสมองเสื่อมซ่อนเร้นได้จากหลายปัจจัย เช่น รูปแบบนาฬิกาชีวิตเปลี่ยนไป (circardian rhythm) ซึ่งปัจจัยที่มีผลได้แก่ แสงแดด การออกกำลังกาย ปฎิกิริยาเชิงสังคม อาหาร นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวลร่วมด้วย
  9. การเปลี่ยนที่อยู่อาศัย เช่น กรณีเจ็บป่วยจากบ้านมาโรงพยาบาล หรือจากโรงพยาบาลกลับบ้านผู้สูงอายุอาจมีอาการสับสน วัน เวลา สถานที่ ทำให้หลายๆท่านจะนอนกลางวัน แล้วตื่นกลางคืน วิธีแก้ไขคือ ต้องพยายามชวยคุย ชวนทำกิจกรรมเวลากลางวัน คอยย้ำเรื่องวันเวลา สถานที่บ่อยๆ ส่วนใหญ่ปัญหาสับสนจะค่อยๆดีขึ้นใน 3-4 วัน