เหนื่อยและหอบเกิดจากอะไร
สาเหตุหลักของอาการเหนื่อยและหอบมาจาก “การเป็นโรค” และ “การไม่เป็นโรค” เช่น พักผ่อนไม่เพียงพอ , กำลังฟื้นตัวจากอาการเจ็บป่วยหรือโรค , ความเครียด วิตกกังวล และไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย เป็นต้น โดยแบ่งเป็น “เหนื่อยปัจจุบัน” คือมีอาการมาแล้ว 2-3 วัน และ “เหนื่อยเรื้อรัง” คือมีอาการสะสมมานาน
ระดับความรุนแรงของอาการเหนื่อย
ความเหนื่อยมีเกณฑ์มาตรฐาน Word Scale (Modified Medical Research Council Scale) เพื่อบ่งชี้อาการเหนื่อย โดยแบ่งเป็นระดับ 0 – 4 ดังนี้
- ระดับ 0 ไม่มีอาการหอบเหนื่อย ยกเว้นไปออกกำลังอย่างหนัก
- ระดับ 1 มีอาการเหนื่อยเมื่อเดินเร็ว ๆ บนทางราบหรือเดินขึ้นเขา
- ระดับ 2 เดินบนทางราบได้ช้ากว่าคนปกติที่มีอายุเท่ากัน และต้องหยุดพักหายใจเพื่อไม่ให้เกิดอาการหอบเหนื่อยเมื่อเดินบนทางราบได้ระยะหนึ่ง
- ระดับ 3 ต้องหยุดพักหายใจเพราะเหนื่อย เมื่อเดินได้ 100 เมตร หรือ 2-3 นาทีโดยประมาณ
- ระดับ 4 มีอาการเหนื่อยเมื่อต้องออกจากบ้าน หรือเหนื่อยเมื่อสวมหรือถอดเสื้อผ้าออกเอง
เหนื่อยและหอบเป็นโรคหรือไม่
เหนื่อยและหอบไม่ใช่โรคแต่เป็นอาการ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ “โรคของหัวใจ” ในแต่ละวันหัวใจจะเต้น 100,000 ครั้งโดยประมาณ หน้าที่ของหัวใจเปรียบเหมือนปั๊มน้ำที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปทั่วร่างกาย เมื่อเครื่องจักรทำงานตลอดก็อาจมีเสื่อมหรือเสียหายได้เช่นเดียวกันกับหัวใจ โดยมีอาการเหนื่อยและหอบแสดงออกมา เช่น การหายใจเร็ว หรือเหนื่อยเสียจนพูดไม่ได้แล้วนั้นก็ยังมีอาการอื่น ๆ เตือนให้รู้ว่าร่างกายก้าวเข้าสู่อันตราย เช่น อาการแน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอกที่เจ็บร้าวไปถึงแขน หายใจไม่ออกรู้สึกอึดอัดแน่นบริเวณกลางอกเหมือนมีสิ่งของทับไว้ , อาการใจสั่น ปกติแล้วหัวใจจะเต้น 60 – 100 ครั้งต่อนาที แต่อาการใจสั่นที่มาจากการเต้นผิดจังหวะของหัวใจจะเต้นเร็วถึง 150 – 250 ครั้งต่อนาที ทำให้เหนื่อยและหอบ จนหายใจไม่ทัน , อาการหน้ามืด ส่งผลให้เป็นลมบ่อยเพราะหัวใจอาจจะหยุดเต้นจึงหมดสติไปชั่วขณะ หากเกิดอาการนี้ควรไปพบคุณหมอ รวมไปถึง อาการขาบวม ที่ฟังดูอาจจะไม่รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกันเลย แต่จริง ๆ แล้วนี่คือส่วนหนึ่งของอาการบ่งชี้โรคหัวใจ เนื่องจากเลือดที่ขาไม่สามารถหมุนเวียนกลับไปเลี้ยงหัวใจได้ปกติ ทำให้ขาบวมเพราะเลือดค้างอยู่ที่ขามากกว่าผิดปกตินั่นเอง
แม้ว่าเหนื่อยและหอบจะไม่ใช่โรค แต่การที่เหนื่อยง่าย หายใจหอบถี่ หรือหายใจไม่ทัน ก็เป็นอาการที่บอกสัญญาณของโรคหัวใจซึ่งอันตรายต่อชีวิต ไม่ควรนิ่งนอนใจและปล่อยไว้โดยเด็ดขาด