โรคมะเร็งลำไส้ คือมะเร็งที่เกิดกับส่วนใดส่วนหนึ่งในลำไส้ โดยเริ่มตั้งแต่ส่วนที่ต่อจากลำไส้เล็กไปจนถึงส่วนปลายที่ติดกับทวารหนัก การเกิดมะเร็งลำไส้ส่วนมากจะเริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อขนาดเล็กภายในลำไส้จนเกิดการพัฒนากลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เรามา Check อาการ ที่อาจเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้กัน

 

อาการของมะเร็งลำไส้

แต่ละบุคคลอาจจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับขนาดและบริเวณที่เกิดเนื้องอก ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่มีอาการในช่วงแรกเริ่ม แต่เมื่อโรคเกิดการพัฒนาจนรุนแรงขึ้นถึงจะมีอาการแสดงออก ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยมี ดังนี้

  1. ท้องผูกสลับกับท้องเสีย คือการอุจจาระแข็งและเหลวสลับกัน เป็นติดต่อกันแบบมีอาการเรื้อรัง
  2. อุจจาระเป็นลำเล็ก เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเริ่มจากการมีติ่งเนื้อขึ้นมาในลำไส้ ซึ่งอาจเป็นติ่งเนื้อธรรมดาไม่ใช่เนื้อร้าย แล้วจึงพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งในภายหลัง การมีติ่งเนื้อขึ้นขวางภายในลำไส้นี้จึงทำให้อุจจาระที่เคลื่อนผ่านลำไส้ใหญ่มีลักษณะถูกบีบให้เป็นลำเล็ก ดังนั้นหากสังเกตได้ว่าอุจจาระมีลักษณะเล็กลีบเป็นประจำ อาจเป็นสัญญาณว่าคุณมีก้อนเนื้อหรือติ่งเนื้อขึ้นในลำไส้
  3. อุจจาระมีเลือดปนมา อาจเกิดขึ้นได้จากการเบียดกันของอุจจาระที่แข็งและติ่งเนื้อที่ขึ้นมาผิดปกติภายในลำไส้ ทำให้เกิดเป็นแผล ส่งผลให้มีเลือดออกปนมากับการขับถ่าย
  4. ปวดท้อง มีอการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด มีลมในลำไส้เหมือนมีแก๊สในท้อง
  5. กินอาหารเท่าเดิมแต่น้ำหนักลด ลักษณะอาการคือน้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีพฤติกรรมการกินอาหารแบบเดิมหรือมากกว่าเดิม
  6. อ่อนเพลียไม่มีแรงแบบหาสาเหตุไม่ได้ อาจเกิดจากการที่มีเลือดออกในลำไส้ ปนออกมากับอุจจาระ หากเสียเลือดจากการขับถ่ายมากอาจมีภาวะซีด และโลหิตจางร่วมด้วย และยิ่งทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียอ่อนแรงต่อเนื่องมากขึ้นอีก
  7. รู้สึกเหมือนถ่ายไม่สุด หลังจากถ่ายอุจจาระ รู้สึกว่าถ่ายไม่สุดอยากจะเข้าไปถ่ายอีก

สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่

การกลายพันธุ์ของยีน

ยีนที่เกิดการกลายพันธุ์จะทำให้ไม่สามารถควบคุมการทำงานของเซลล์ได้ ทำให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งและยังสามารถลุกลามไปยังเซลล์ข้างเคียงก่อตัวเป็นเนื้อร้ายได้

 

การรับประทานอาหาร

ด้วยรูปแบบการรับประทานอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป การเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงและมีกากใยอาหารต่ำ ส่งผลให้ผู้ที่มีการกินอาหารในลักษณะนี้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น

 

สาเหตุอื่น อาจถูกกระตุ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น

  • พันธุกรรม มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้โดยเฉพาะญาติสายตรง เช่น พ่อ แม่ พี่หรือน้อง จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรค
  • อายุที่เพิ่มมากขึ้น มีความเสี่ยงตามวัย โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ในรายที่มีอายุน้อยก็สามารถพบได้ แต่พบได้น้อย
  • การอักเสบของในลำไส้
  • โรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับลำไส้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง หรือโรคโครห์น
  • การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • การรักษามะเร็งบริเวณช่วงท้องโดยวิธีการฉายแสง
  • โรคเบาหวานหรือโรคอ้วน

7 พฤติกรรมและข้อควรหลีกเลี่ยงเพื่อป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่

  1. เลี่ยงอาหารรสจัด ไขมันสูง และเนื้อแดง
  2. เลี่ยงอาหารก่อมะเร็ง เช่น ของทอด ปิ้งย่าง ของสุกๆดิบๆ หมักดอง
  3. รับประทานอาหารที่มีกากใยมาก
  4. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  6. ไม่ควรอั้นอุจจาระ เมื่อปวดควรขับถ่ายทันที
  7. ตรวจสุขภาพประจำปี

มะเร็งลำไส้และมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นมะเร็งที่สามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายจากโรคสูง ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และไส้ตรงโดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระปีละครั้ง หากผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป