เกิดจากร่างกายมีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) สูง ซึ่งอาจเป็นเพราะใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มากเกินไป หรือร่างกายอาจผลิตฮอร์โมนนี้ออกมามากกว่าปกติ

อาการแสดง

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นแต่ความสูงเพิ่มขึ้นไม่มาก ทำให้ตัวอ้วนเตี้ย
  • ไขมันสะสมบริเวณใบหน้าบริเวณหลังคอ และบริเวณลำตัว ทำให้ดูหน้ากลม (moon face)
  • มี buffalo hump มีไขมันสะสม และ truncal obesity
  • มวลกล้ามเนื้อ (muscle mass) ลดลง ทำให้ดูแขนขาเล็ก
  • ผิวบางและแตกสีม่วงแดง (purplish striae) เป็นจ้ำง่าย
  • อาการที่บ่งชี้ว่ามี androgen เกิน ได้แก่ มีสิว ขนดก เสียงห้าว
  • อาการอื่นที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความดันเลือดสูง และน้ำตาลสูงในเลือด

สาเหตุของ Cushing Syndrome

สาเหตุที่พบบ่อยของ Cushing Syndrome คือ การใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานในปริมาณมากและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาเพรดนิโซน การใช้ยาลูกกลอน ยาสมุนไพรพื้นบ้าน หรือยาอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่

  • เกิดความผิดปกติ หรือมีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
  • เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ทำให้ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคทรอพิก (Adrenocorticotropic hormone) ออกมามากเกินไป จนทำให้เกิด Cushing Syndrome
  • เกิดเนื้องอกในปอด ต่อมไร้ท่อหรือต่อมไทรอยด์ และตับอ่อน
  • กรรมพันธุ์ เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก โดยผู้ป่วยอาจสืบทอดการเกิดเนื้องอกในต่อมไร้ท่อ ซี่งส่งผลต่อระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล และทำให้เกิด Cushing Syndrome ได้

การวินิจฉัย Cushing Syndrome

แพทย์จะวินิจฉัยโดยสอบถามรายละเอียดของอาการที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกาย รวมทั้งอาจตรวจเพิ่มเติมประกอบการวินิจฉัย เช่น

  • ตรวจปัสสาวะ โดยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล
  • ตรวจเลือด โดยการนำตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยไปวิเคราะห์ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในห้องปฏิบัติการ
  • ตรวจน้ำลาย เพื่อดูระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลาย ซึ่งจะทำการตรวจในเวลากลางคืน เพราะโดยปกติ ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลจะลดลงในช่วงเย็นเป็นต้นไป
  • ตรวจภาพถ่าย ด้วยการทำซีที สแกน (Computerized Tomography: CT Scan) หรือเอ็มอาร์ไอ สแกน (Magnetic Resonance Imaging: MRI Scan) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต เช่น ตรวจหาเนื้องอก เป็นต้น

การรักษา Cushing Syndrome

  • การลดหรือหยุดใช้ยาสเตียรอยด์ แพทย์จะตรวจสอบว่าควรหยุดใช้ยาหรือควรลดปริมาณการใช้ยาลงหรือไม่ รวมไปถึงสั่งยาตัวใหม่ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยผู้ป่วยไม่ควรหยุดหรือลดการใช้ยาสเตียรอยด์ด้วยตนเอง ต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดยาเท่านั้น
  • การผ่าตัดเนื้องอกออก ในกรณีที่มีเนื้องอกเป็นสาเหตุ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง เนื้องอกต่อมหมวกไต เนื้องอกตับอ่อนหรือปอด โดยแพทย์จะทดสอบหาตำแหน่งของเนื้องอกก่อนพิจารณาผ่าตัด
  • การฉายรังสี แพทย์อาจใช้วิธีนี้เมื่อไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเนื้องอกได้
  • การใช้ยารักษา ใช้เพื่อควบคุมการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลในร่างกาย ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดและฉายรังสีได้ หรืออาจใช้ก่อนการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เพื่อช่วยลดอาการต่าง ๆ และลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด