Fast Foods (ฟาสต์ฟู้ด) หรืออาหารจานด่วนได้รับความนิยมจากคนทุกเพศทุกวัย เพราะมีรสชาติถูกปาก อีกทั้งสามารถรับประทานได้สะดวกรวดเร็ว เนื่องจากเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปและแช่แข็ง แล้วนำมาอุ่นให้ร้อนและเสิร์ฟลูกค้าได้อย่างทันใจ แต่ FAST FOOD บางชนิดที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำอาจมีผลเสียต่อสุขภาพที่หลายคนไม่เคยรู้
Fast Foods ไม่ว่าจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์ ฮอตดอก ไก่ทอด และเฟรนช์ฟรายส์ ที่อร่อยถูกปากอาจทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน เนื่องจากมักมีคาร์โบไฮเดรต โซเดียม ไขมัน และน้ำตาลสูง
การรับประทานเฟรนช์ฟรายส์ไซซ์กลางให้คาร์โบไฮเดรต 47 กรัม หรือประมาณ 16% ของคาร์โบไฮเดรตที่ควรได้รับต่อวัน โดยคาร์โบไฮเดรตจะถูกย่อยสลายให้กลายเป็นน้ำตาล หากรับประทานระยะยาวจะทำให้เกิดโรคอ้วนและระดับน้ำตาลในเลือดสูง ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมักมีปัญหาเรื่องข้อต่อและกระดูกจากน้ำหนักตัวกดทับ และระบบทางเดินหายใจ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจหอบเหนื่อย และโรคหืดตามมา
การรับประทาน Fast Foods ที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ (Trans Fat) สูงจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) และลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิด 2 และโรคหัวใจ รวมถึงปริมาณน้ำตาลที่แฝงมากับน้ำอัดลม น้ำหวาน และไอศกรีมที่ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูง
นอกจากนี้ Fast foods อาจมีโซเดียมสูงที่อาจทำให้ตัวบวม เนื่องจากร่างกายกักน้ำไว้เพื่อรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกาย และหากรับประทานมากเกินไประยะยาวอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ระบบหัวใจและหลอดเลือดทำงานหนักขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง
นอกจากนี้อาหาร Fast Foods ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น
- ท้องอืด เนื่องจากมีปริมาณคาร์โบไฮเดรต โซเดียม และไขมันสูง อีกทั้งการดื่มน้ำอัดลมควบคู่กับฟาสต์ฟู้ดอาจยิ่งทำให้ท้องอืดมากขึ้น
- ท้องผูก เพราะคาร์โบไฮเดรตใน Fast Foods เป็นชนิดที่ผ่านการขัดสีและแปรรูป ทำให้มีใยอาหารต่ำ อาจทำให้ท้องผูก และเสี่ยงต่อการเกิดโรคริดสีดวงทวาร
- อาจทำให้อ่อนเพลียและหงุดหงิด การรับประทานคาร์โบไฮเดรตขัดสีและน้ำตาลที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งอินซูลินปริมาณมากเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างรวดเร็วตามไปด้วย การเพิ่มและลดน้ำตาลอย่างรวดเร็วนี้เองอาจทำให้รู้สึกเหนื่อยและหงุดหงิด
- อารมณ์แปรปรวน การรับประทาน Fast Foods ทำให้ร่างกายไม่ได้รับวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น และอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า
- กระตุ้นการเกิดสิวและโรคผิวหนังอักเสบ(Eczema) การรับประทาน Fast Foods ที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอาจทำให้เกิดสิว
รับประทาน Fast Foods อย่างไรให้ไม่เสียสุขภาพ
- เลือกเมนูอบหรือย่างแทนเมนูทอดที่ใช้น้ำมันปริมาณมาก เช่น เปลี่ยนจากไก่ทอดเป็นไก่อบ เนื้อไม่ติดมัน หรือปลาย่าง
- เปลี่ยนเครื่องเคียงจากเฟรนช์ฟรายส์ที่มีไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโซเดียมสูง เป็นสลัดผักที่ใส่น้ำสลัด
- หลีกเลี่ยงเมนูที่ราดครีมซอสหรือมายองเนสที่มีไขมันสูง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและแคลอรี่สูง เช่นน้ำอัดลม ชา และน้ำผลไม้ โดยเลือกดื่มน้ำเปล่า ชา หรือน้ำอัดลมแบบไม่มีน้ำตาลแทน
- หากต้องการรับประทานของหวาน ควรเลือกผลไม้สดหรือไอศกรีมซอร์เบท (Sorbet) ที่ไม่ผสมนมแทนการรับประทานไอศกรีมนมที่อาจมีน้ำตาลและไขมันสูง
ทั้งนี้ ควรจำกัดปริมาณการรับประทานในแต่ละครั้ง เช่น การรับประทานเฟรนช์ฟรายส์ขนาดเล็กมีแคลอรี่น้อยกว่าขนาดใหญ่ถึง 200 แคลอรี่