อาการปวดหัวแบบไมเกรน ส่วนใหญ่จะปวดศีรษะข้างเดียว อาจรุนแรงน้อยจนถึงมากจนทำงานไม่ได้ มักมีสาเหตุบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น เช่นความตึงเครียด สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยยาและการพักผ่อน

อาการปวดศีรษะแบบไมเกรน

จะมีอาการปวดศีรษะแบบตุ๊บๆข้างเดียว บางคนอาจมีสองข้างได้ สัมพันธ์กับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่มักเป็นนานเกิน 4 ชั่วโมง เป็นแล้วก็มักเป็นซ้ำได้อีก ช่วงที่อาการไม่กำเริบ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดศีรษะแม้แต่น้อย เหมือนคนปกติที่ไม่เคยปวดหัวมาก่อน

ในผู้ป่วยบางคนจะมีอาการนำ (Aura) มาก่อนปวดหัว อาการนำที่พบบ่อยคือ อาการทางตา เช่น เห็นแสงวูบวาบ ไฟระยิบระยับ บางคนเห็นภาพเบลอ ภาพสั่น ภาพผิดรูป หรือภาพเหมือนมองผ่านไอความร้อน โดยอาการนำมักเป็นก่อนมีอาการปวดหัวประมาณ 10-30 นาที

สาเหตุของไมเกรน

  • จากตัวคนไข้เอง คือ สมองของบุคคลนั้นมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นที่ง่ายกว่าปกติ
  • จากปัจจัยภายนอกมากระตุ้น เช่น กลิ่น กลิ่นน้ำหอม เสียงดังๆ แสงแดดจ้าๆ อดนอน หรือก่อนมีรอบระดู

การรักษาไมเกรน

เป้าหมายการรักษาแบ่งเป็น2 ส่วนคือ หนึ่งลดอาการปวดศีรษะ และสองป้องกันการเป็นซ้ำ

  1. การลดอาการปวดศีรษะ ถ้าปวดระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง ให้กินยาแก้ปวดทั่วไป (พาราเซตามอล หรือยากลุ่มNSAID เช่น ibuprofen) นอนพัก พยายามอยู่ในที่อากาศเย็นๆ สบายตัว หรืออาจใช้ของเย็นๆ เช่น น้ำแข็ง หรือ cold pack ประคบศีรษะ

    กรณีปวดศีรษะรุนแรง แพทย์จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดจำเพาะกับไมเกรน เช่นกลุ่ม Cafegot หรือยา Triptans ข้อควรระวังในการใช้ยากลุ่มนี้คือ ยาอาจทำให้หลอดเลือดมีการหดตัวจนเกิดอาการเนื้อเยื้อส่วนปลายขาดเลือดได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการกินคู่กับยากลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์ ยาแก้เชื้อรา ยาฆ่าเชื้อบางชนิด เพราะจะเสริมฤทธิ์หลอดเลือดหดตัวรุนแรง ทำให้ปลายนิ้วขาดเลือด ปวด เขียวคล้ำ

    *กรณีเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัวเป็นหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หรือมีความเสี่ยงทางโรคหลอดเลือด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็ควรหลีกเลี่ยงยากลุ่ม Cafegot หรือ Triptans เช่นกัน เพราะยาอาจไปกระตุ้นการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองเฉียบพลันได้

  2. การป้องกันการเกิดไมเกรนซ้ำ ได้แก่
    • สังเกต ค้นหาปัจจัยกระตุ้น พร้อมหลีกเลี่ยง เช่น การกางร่มหรือใส่แว่นกันแดดก่อนออกแดด หลีกเลี่ยงการอยู่ในอากาศร้อนๆ หลีกเลี่ยงการอดนอน
    • บางคนอาการปวดหัวไมเกรนสัมพันธ์กับช่วงก่อนมีรอบเดือน อาจจำเป็นต้องกินยาป้องกันเฉพาะช่วง
    • กรณีมีอาการกำเริบบ่อย หรือเป็นแต่ละครั้งรุนแรงมาก แพทย์อาจปรับยาเพื่อเพื่อควบคุม ซึ่งยาจะเป็นกลุ่มลดความดันโลหิตสูง ยากลุ่มต้านเศร้า ยากลุ่มกันชัก ทั้งนี้การกินยาควรอยู่ในการควบคุมของแพทย์เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะไม่พึงประสงค์ทางยา

ปวดหัวไมเกรนอันตรายไหม

การปวดหัวไมเกรนป็นการปวดหัวที่ไม่ได้เกิดจากรอยโรคในสมอง ไม่เกี่ยวกับมะเร็ง เนื้องอกในสมอง รวมทั้งไม่ใช่อาการนำของโรคหลอดเลือดในสมองทั้งตีบหรือแตก แต่การปวดหัวไมเกรนอาจรบกวนชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้หยุดงานบ่อย หรืออาจส่งผลให้เกิดภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้าได้

พญ. เนตรนภา หอมมณี
อายุรแพทย์โรคระบบประสาท
โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต