เวลารู้สึกมึน ๆ รู้สึกปวดตุ้บ ๆ ในหัว โดยปกติของคนเราจะต้องยกมือไปอังหรือแตะหน้าผาก เพื่อวัดความรู้สึกว่าตัวร้อนหรือไม่ ซึ่งตามความเชื่อของคนไทยที่มีมาช้านานบอกว่า ถ้าศีรษะร้อนและเย็นกว่าฝ่ามือ หรือแขนขาหมายถึงอาการหนักแล้ว และนั่นเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์ มารู้จักเรื่องราวที่ถูกต้องของโรคไข้หวัดกัน

ไข้สูงเกิดจากโรคอะไรบ้าง

ทั่วไปแล้วสาเหตุของไข้หรือตัวร้อนมีหลายปัจจัย มีระยะเวลาที่ไข้ปรากฏในแต่ละโรคต่างกัน สามารถแบ่งประเภทของไข้หวัดได้ 5 ประเภท ดังนี้

1. ไข้หวัดธรรมดา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสของระบบหายใจตอนบน มีอาการปวดหัว มีไข้เล็กน้อย มีน้ำมูก เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รู้สึกอ่อนเพลีย และไม่เกิดโรคแทรกซ้อน มีระยะเวลาการป่วยราว 3 – 4 วันก็จะหายปกติ
6304-fever-2
2. ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza virus) สามารถแยกโรคในคนได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยอาการที่พบในไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาจะเหมือนกับไข้หวัดธรรมดาแต่มีอาการรุนแรงกว่า จากการมีไข้สูงมากกว่า 5 วัน มีไข้สูงกว่า 40 องศา และการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอาจจะลุกลามเขาสู่ปอดได้ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ดีที่สุด

3. ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue virus) มียุงลายเป็นพาหะ มีอาการไข้สูงราว 3 – 4 วันร่วมกับอาการซึม เบื่ออาหาร ปวดใต้ชายโครงข้างขวา บางคนอาจจะอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำเหมือนน้ำมันดิน และอาจช็อกได้หากมีไข้สูงมาแล้ว 4 วัน

4. ไข้ไทฟอยด์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi มีอาการไข้สูงร่วมกับอาการซึม ถ่ายอุจจาระเหลว ถ้าไม่ได้รักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะมีไข้อยู่นานถึง 3 สัปดาห์ ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนทางลำไส้ อาจจะเลือดออกหรือลำไส้ทะลุ อาการรุนแรงจากตับอักเสบ ดีซ่าน หรือบางคนอาจะเกิดโรคแทรกซ้อนทางสมอง

5. ปอดอักเสบ เกิดจากการมีไข้สูงและอาการของไข้วันนำมาก่อน 2 – 3 วัน ต่อมาไข้จะสูงขึ้นกว่าเดิม ร่วมด้วยไอและหายใจเร็วถี่มากขึ้น เบื่ออาหารจนกินอะไรไม่ได้ ผู้ป่วยต้องให้สารทางหลอดเลือด หรือบางคนต้องให้ออกซิเจน จึงต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล 2 – 4 วันโดยประมาณ

ดังนั้น จึงจะเห็นว่าไข้สูงหรือตัวร้อนเป็นอาการของโรคอย่างหนึ่งเท่านั้น หากมีไข้สูงหลายวันและมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรจะมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี