Project Description

 

โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (นพ.ภิญโญ อยู่รัตน์ – ศัลยกรรมประสาท)

เป็นอาการเสื่อมของระบบกระดูกสันหลัง เกิดจากการใช้งานผิดประเภทจนอวัยวะเสื่อมเร็วกว่าเวลาที่ควรจะเป็น ได้แก่ การยกของหนักผิดท่า การทำงานประเภทที่ต้องนั่งนานๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ เช่น การทำงานในออฟฟิศ จะทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

สัญญาณอัตรายที่บ่งบอก

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังที่ไม่สามารถระบุได้ว่าปวดยังไงหรือตรงไหน ซึ่งเป็นอาการที่เกิดจากหมอนรองกระดูงทับเส้นประสาทหรือกระดูกสันหลังเสื่อม โดยจะเป็นการปวดสันหลังร้าวลงไปถึงขา และมีอาการอื่นๆร่วมด้วย ได้แก่ เมื่อปวดแล้วมีอาการชา แขนขาอ่อนแรง การตอบสนองของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ เดินไม่ตรง อุจาระหรือปัสสาวะไม่คล่อง เช่น ท้องผูก ปัสสาวะไม่ออก ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

การวินิจฉัยเบื้องต้น คือ ตรวจหาสาเหตุของอาการที่ผิดปกติ จะมีการซักประวัติ ตรวจร่างกายเพื่อดูแนวโน้มของการเกิดโรค เริ่มตั้งแต่ตรวจพละกำลังของกล้ามเนื้อ โดยการตรวจกล้ามเนื้อทีละมัด เพื่อดูท่าทางการเดิน อาการปวดร้าว ปวดชาตามซีกขา

โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ ที่มีการปวดหลัง ร้าวลงขา เดินด้วยก้าวที่สั้นลง แขนขาเริ่มอ่อนแรง ไม่สามารถยืนนานๆได้ ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการเอกซเรย์ตั้งแต่การเอกซเรย์อย่างง่าย เช่น ท่ายืนธรรมดา ยืนตรง ยืนตะแคง เพื่อดูสรีระของไขสันหลังและกระดูกสันหลัง ต่อมาเป็นท่าของกระดูกสันหลังที่ผิดปกติชัดเจน ช่องหมอนรองกระดูกแคบลง มีปุ่มกระดูกงอกออกมากตามแนวกระดูกสันหลัง อาการนี้ก็เป็นแนวโน้มของการเป็นกระดูกสันหลังเสื่อมเช่นกัน

การตรวจคลื่นแม่เหล็กจะทำให้ผู้ป่วยทราบรายละเอียดของโรคมากขึ้น เพื่อดูความกว้าง-แคบ ของช่องไขสันหลัง เพื่อดูว่าหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทหรือไม่ เพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

แนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดโรค

ควรหลีกเลี่ยงการ ยกของที่ผิดท่าหรือยกของหนัก เนื่องจากหมอนรองกระดูกไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อรองรับการใช้งานประเภทนั้น อาจทำให้เกิดการแตกของหมอนรองกระดูก การเคลื่อนตัวของกระดูกสันหลังได้ รวมไปถึง ไม่ควรนั่งทำงานนานๆโดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ หรือแม้แต่การไปหนวด เฟ้น และบิดตัว ก็ทำให้เกิดแนวโน้มของอาการกล้ามเนื้อผิดมัด และควรควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลังเช่นกัน